ผู้เขียนเคยเล่าถึงดอกไม้สีขาวบริสุทธิ์กลิ่นหอมชื่นใจอย่างลั่นทมไปแล้ว คราวนี้เลยจะขอกล่าวถึงดอกไม้อื่นๆ ในวงศ์เดียวกับลั่นทมคือวงศ์ Apocynaceae ที่มีอยู่หลากหลายชนิด ซึ่งล้วนมีรูปลักษณ์และกลิ่นหอมผิดแผกแตกต่างกันออกไป โดยในที่นี้จะคัดเลือกมาเฉพาะบางชนิดที่มีดอกสีขาวกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของพรรณไม้เมืองร้อน

ดอกไม้ชนิดแรกที่สะดุดตาผู้เขียนนักหนาคือดอกไม้ที่มีนามเพราะพริ้งว่า หิรัญญิการ์ ดอกหิรัญญิการ์นี้ไม่ใช่มีดีแค่กลิ่นหอมละมุนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีดอกสวยจัด ผิดวิสัยดอกไม้ถิ่นร้อนทั่วไปที่มักมีดอกเล็กบอบบาง หิรัญญิการ์นี้มีดอกสีขาวพิสุทธิ์ขนาดใหญ่สมกับชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Beaumontia grandiflora คำว่า grandiflora นี้มาจากภาษาละติน grandis และ flor ซึ่งรวมความแล้วหมายถึงดอกไม้ขนาดใหญ่นั่นเอง โคนดอกทรงคล้ายถ้วยหรือระฆังหงาย ปลายบานออกเป็น 5 กลีบ ขอบกลีบหยักเป็นคลื่นดูคล้ายรอยจีบย่นบนแพรเนื้อดี เวลาเบ่งบานสะพรั่งต้องแสงแดดยามเช้าจะเห็นเป็นสีขาวพราวพร่างไปทั้งต้น สวยจนต้องจ้องมองอย่างตื่นตะลึงตั้งแต่แวบแรกที่เห็น กระทั่งหมายมั่นปั้นมือว่าต้องหามาปลูกให้ได้สักต้น ไว้เชยชมความงามกระจ่างตาที่ดูอย่างไรก็ไม่รู้เบื่อ

คำว่า หิรัญ แปลว่า เงิน ซึ่งก็สื่อถึงสีสันอันนุ่มนวลเย็นตาราวกับอาบไล้ด้วยแสงจันทร์สีเงินของดอกไม้ชนิดนี้ หลายคนนำชื่อหิรัญญิการ์ไปตั้งให้ลูกสาว ถือเป็นมงคลนามอันไพเราะน่าประทับใจยิ่งนัก ส่วนทางตะวันตกเรียกหิรัญญิการ์ว่า Easter Lily Vine เพราะมีดอกใหญ่สีขาวบริสุทธิ์คล้ายดอก Easter Lily ของฝรั่ง และมีลำต้นเป็นเถาเลื้อยขนาดใหญ่

ต้นหิรัญญิการ์นี้หากลองหักกิ่งก้านดูจะพบว่ามีน้ำยางสีขาวไหลออกมา ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของไม้ในวงศ์นี้ มีพุ่มใบดกแน่นทึบ ใบขนาดใหญ่รูปรีหรือรูปไข่กลับปลายแหลม ผิวหน้าใบสีเขียวเข้มเป็นมันเห็นเส้นใบชัดเจน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ก้านช่อดอกมีขนละเอียดสีน้ำตาลแดงปกคลุม ความงามของใบและดอกทำให้นิยมปลูกเป็นไม้ประดับบ้าน โดยมักปล่อยให้เลื้อยตามซุ้มหรือโครงไม้ หิรัญญิการ์มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและเจริญเติบโตได้ดีในเขตภูมิอากาศร้อน จึงเป็นไม้ปลูกเลี้ยงง่ายทนทานต่อสภาพอากาศ ทั้งยังไม่หวงดอก เมื่อโตได้ที่ก็จะออกดอกให้ได้เชยชมอย่างสม่ำเสมอทุกปีไม่ได้ขาด

กลิ่นหอมของหิรัญญิการ์ออกเย็นชื่นใจทำนองเดียวกับไม้หัวดอกหอมอย่างพลับพลึงหรือว่านสี่ทิศ ชวนให้นึกถึงอากาศบริสุทธิ์ยามเช้าท่ามกลางแมกไม้เขียวขจี ผู้เขียนยังไม่พบข้อมูลที่ระบุถึงการสกัดกลิ่นจากดอกหิรัญญิการ์หรือแต่งกลิ่นสังเคราะห์เลียนแบบดอกไม้ชนิดนี้เพื่อทำเครื่องหอมในเมืองฝรั่ง สันนิษฐานว่าคงเพราะมีกลิ่นค่อนข้างอ่อนละมุน และยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากนักในแถบตะวันตก จึงเป็นที่น่าทดลองสร้างสรรค์น้ำหอมกลิ่นดอกหิรัญญิการ์ เพื่อให้ได้ความโดดเด่นไม่ซ้ำใครที่ส่งตรงจากตะวันออก

ไม้อีกอย่างในวงศ์ลั่นทม ซึ่งมีดอกงามน่ารักและมีกลิ่นหอมเช่นเดียวกัน จนเป็นที่รู้จักทั่วไปในเอเชียตะวันออกและอเมริกา คือ Star Jasmine มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Trachelospermum jasminoides ทำเนียบ “ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย” ของ ศ.ดร.เต็ม สมิตินันทน์ระบุชื่อสามัญไว้ว่า สะครื่อ แต่ในที่นี้จะขอเรียกว่า Star Jasmine ก็แล้วกัน เพราะชื่อสะครื่อนั้นไม่เป็นที่คุ้นหูคนไทยมากนัก

ภาพโดย Scott Zona จาก Wikimedia Commons

Star Jasmine นี้เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ลำต้นเป็นเถาเลื้อยสูงได้ราว3 เมตรใบรูปไข่แกมรูปหอก ยาวประมาณ 2-10 เซนติเมตรดอกสีขาวขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางราว 1-2 เซนติเมตรโคนดอกทรงหลอด ปลายบานออกเป็น 5 กลีบซึ่งห่อตัวและบิดวนคล้ายกังหัน เพราะรูปลักษณ์และกลิ่นหอมที่คล้ายมะลิจึงมักมีผู้เข้าใจผิดว่าเป็นไม้สกุล Jasminum บ้างเห็นชื่อภาษาฝรั่งก็เข้าใจว่าเป็นมะลุลี เพราะเรียกว่า Star Jasmine เหมือนกัน แต่มะลุลีนั้นเป็นไม้สกุลมะลิ มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Jasminum pubescens ทั้งยังมีรูปลักษณ์ผิดแผกออกไป โดยมะลุลีมีกลีบทรงแคบปลายแหลมเรียว บานแผ่ออกไม่บิดวน ดูไปก็คล้ายดวงดาว คาดว่าคงเป็นสาเหตุที่เรียกว่า Star Jasmine เหมือนกัน

ต้น Star Jasmine นี้นิยมปลูกกันในรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีอากาศอบอุ่นแบบเมดิเตอร์เรเนียน รวมถึงรัฐทางใต้ซึ่งมีภูมิอากาศแบบกึ่งร้อน เช่นฟลอริด้าและเท็กซัส โดยมักปลูกให้เลื้อยตามกำแพง เสา ระเบียง โครงทรงเหลี่ยมหรือทรงกรวย หรืออาจปลูกเป็นพุ่มเตี้ยๆ เรียงรายริมทางเดินหรือขอบสนาม โดยต้องคอยตัดเล็มกิ่งก้านออกอย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาทรงพุ่มให้ดูเป็นระเบียบสวยงาม ไม้ชนิดนี้เลยกลายเป็นที่โปรดปรานของนักแต่งสวนและภูมิสถาปนิกชาวฝรั่งเขา เพราะสามารถนำมาจัดแต่งได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งยังทนทานต่อสภาพอากาศร้อน รวมทั้งโรคและแมลงต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ต้น Star Jasmine ที่ปลูกให้เลื้อยคลุมกำแพง ภาพจาก http://www.gardenexpress.com.au

Star Jasmine นี้เรียกได้อีกอย่างว่า Confederate Jasmine เพราะเป็นไม้ที่นิยมปลูกในรัฐทางใต้ของอเมริกา ซึ่งเคยมีชื่อเรียกว่า The Confederate States of America ทว่าชาวอเมริกันจำนวนมากก็ไม่พึงใจกับชื่อนี้ เพราะเตือนให้นึกถึงประวัติศาสตร์การค้าทาสและการเหยียดผิวของรัฐทางใต้ในสมัยนั้น คนส่วนใหญ่จึงนิยมเรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า Star Jasmine มากกว่า

ถึงจะปลูกมากทางภาคใต้ของอเมริกาจนเป็นที่มาของชื่อสามัญนี้ แต่ถิ่นกำเนิดที่แท้จริงของไม้นี้คือแถบเอเชียตะวันออก ปลูกกันมากในญี่ปุ่น เกาหลี จีนตอนใต้ ไล่มาจนถึงเวียดนาม ชาวจีนเชื่อว่ารากมีสรรพคุณแก้อาการตะคริวหรือการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดความร้อนในกระแสเลือด บรรเทาอาการบวมพอง แก้โรคฝีประคำร้อย และอาการเจ็บคอ

Star Jasmine นี้ยังเรียกได้อีกชื่อหนึ่งคือ Trader’s Compass ซึ่งก็มาจากคำบอกเล่าของชาวอุซเบกิสถานคนหนึ่งว่าดอกไม้ชนิดนี้สามารถชี้บอกทิศทางที่ถูกต้องให้แก่พ่อค้าพาณิชย์ในสมัยก่อนได้

ผู้เขียนชอบท่องอินเตอร์เน็ตจึงมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมเว็บบล็อกของคนรักดอกไม้ทั้งหลายในเมืองไทยอยู่บ่อยครั้ง พบว่ามีผู้นำดอก Star Jasmine นี้มาปลูกประดับบ้านแล้วเช่นกัน สันนิษฐานว่าน่าจะได้มาจากตลาดต้นไม้ใหญ่ๆ ที่ขายพันธุ์ไม้แปลกหายากต่างๆ ก็เป็นเรื่องดีสำหรับนักสะสมพันธุ์ไม้หอมทั้งหลายที่จะได้มีโอกาสซื้อหามาไว้เชยชม

น้ำหอม Blush ของ Marc Jacobs ภาพจาก http://www.parfumdepub.net

ดอก Star Jasmine นี้มีผู้เปรียบว่ากลิ่นคล้ายดอกคัดเค้าหรือดอกพุทธชาด จึงสามารถนำไปสกัดกลิ่นหอมได้เช่นกัน น้ำหอมฝรั่งที่ทราบมาว่ามีกลิ่นดอกไม้ชนิดนี้ผสมอยู่ด้วย คือ Blush ของ Marc Jacobs ซึ่งก็มีการเติมแต่งกลิ่นดอกไม้ชนิดอื่นๆ ลงไปด้วย เช่น มะลิ สายน้ำผึ้ง ฟรีเซีย ดอกส้ม ผู้คิดค้นกลิ่นนี้ได้แรงบันดาลใจจากการสูดกลิ่นหอมสดชื่นของพุ่มมะลิในสวน ซึ่งเป็นกลิ่นที่ผสมผสานระหว่างกลิ่นไอเย็นของอากาศบริสุทธิ์ กลิ่นหวานละมุนจากกลีบดอกสีขาวชุ่มฉ่ำและกลิ่นเขียวสดชื่นจากพุ่มใบและก้านดอก โฆษณาว่าเป็นน้ำหอมสำหรับสาวน้อยวัยแรกแย้มที่ทั้งอ่อนหวานและอินโนเซ้นส์ แต่สาว (เหลือ) น้อยคนใดจะสนใจขึ้นมาบ้างก็ไม่ว่ากัน เพราะเชื่อว่ากลิ่นหอมนั้นไม่มีอายุขัย ตราบใดที่กลิ่นนั้นสะท้อนสุนทรียะในจิตใจ รูปกายจะเป็นอย่างไรก็ย่อมไม่สำคัญ

ดอกไม้วงศ์เดียวกันชนิดต่อมาที่คนไทยรู้จักกันดี คือ ดอกโมก ดอกเล็กๆ สีขาวบริสุทธิ์ออกเป็นช่อห้อยระย้าลงตามปลายกิ่งดูพร่างพราวราวกับหยาดน้ำค้าง ประกอบกับกลิ่นหอมเย็นชื่นใจ จึงได้นามอันเป็นมงคลว่า โมก พ้องกับคำว่า โมกข์ ซึ่งแปลว่าการหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา ทั้งยังนิยมปลูกในวัดวาอารามมาแต่โบราณ จึงมีชื่อสามัญในภาษาฝรั่งที่สอดคล้องกันว่า Sacred Buddhist และมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Wrightia religiosa บ่งบอกถึงความเชื่อมโยงกับความสูงส่งหรือความศักดิ์สิทธิของศาสนา ชาวไทยจึงสืบทอดความเชื่อมาแต่โบราณว่า การปลูกต้นโมกไว้ประดับบ้าน จะทำให้เกิดความสุขสงบ ช่วยปกป้องคุ้มครองให้พ้นภยันตรายทั้งปวง เป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย จริงๆ แล้วดอกโมกมีชื่อฝรั่งอื่นๆ อีกเช่น Water Jasmine ซึ่งคงจะสื่อถึงลักษณะดอกสีขาวพิสุทธิ์คล้ายมะลิ แต่มีกลีบบอบบางกว่าและมีกลิ่นหอมเย็นชื่นฉ่ำ

ต้นโมกนี้เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงราว 1-3 เมตรลำต้นแข็งแรงทนทาน เปลือกต้นสีน้ำตาลดำ ใบรูปไข่แกมรูปรี ปลายใบแหลม ยาวประมาณ 2–7 เซนติเมตร ดอกมีทั้งชนิดดอกชั้นเดียวที่เรียกว่าโมกลา และชนิดดอกซ้อนหรือโมกซ้อน เป็นไม้ที่เติบโตได้ดีในเขตร้อนชื้น ทรวดทรงที่สง่างามของลำต้นทำให้นิยมนำมาปลูกประดับอาคารสถานที่ โดยสามารถตัดแต่งพุ่มให้ได้รูปทรงหลากหลายแปลกตาหรือจะปลูกในกระถางเป็นไม้แคระก็ได้ นอกจากรูปพรรณสัณฐานจะงดงามแล้ว รากโมกยังได้ชื่อว่ามีสรรพคุณบำบัดโรคผิวหนังได้อีกด้วย ส่วนดอกก็นิยมนำไปสกัดกลิ่นหอมทำน้ำอบไทยหรือน้ำปรุง ผู้เขียนว่าน่าจะเยี่ยมยอดหากนำมาผสมผสานกับดอกไม้อย่าง มะลิ พุทธชาด หรือคัดเค้า เป็นกลิ่นหอมเย็นระรื่นที่สื่อถึงเสน่ห์ละเมียดละมุนของสาวไทยได้อย่างดี

น้ำหอมกลิ่นดอกโมกฝีมือคนไทย Mok Eau de Perfume จาก Giffarine

ดอกไม้ในวงศ์เดียวกันอีกชนิดที่ชาวไทยนิยมปลูกประดับบ้าน คือ ชมนาด หรือ ดอกข้าวใหม่ ที่เรียกเช่นนี้เพราะมีกลิ่นคล้ายข้าวหอมมะลิที่หุงใหม่ๆ ส่วนฝรั่งเรียกว่า Bread Flower หรือ Smoked Sweet Coconut เพราะมีกลิ่นคล้ายขนมปังที่ผ่านการอบใหม่ๆ หรือ กลิ่นหอมอบอวลของมะพร้าวเผา ก็ถือเป็นการเปรียบเทียบที่แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมหรือความรู้สึกของแต่ละชนชาติ

ชมนาดมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Vallaris glabra มีถิ่นกำเนิดบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นไม้เถาเลื้อยที่มีลำต้นแข็งแรงทนทาน ใบสีเขียวสดรูปไข่แกมรูปรี ปลายใบแหลม แผ่นใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ยาวประมาณ 7-9 ซ.ม. ดอกสีขาวนวลทรงคล้ายกระดิ่งเล็กๆ ออกเป็นช่อห้อยระย้าลงจากปลายยอดหรือซอกใบ กลีบดอกชมนาดนี้เชื่อมติดกันเป็นกระเปาะส่วนปลายแยกออกเป็น 5 แฉก มีลักษณะพิเศษคือจะบานทนอยู่หลายวัน ส่งกลิ่นหวานละมุนซึ่งจะแรงขึ้นเรื่อยๆ ในยามค่ำ ดึงดูดเหล่าผีเสื้อกลางคืนได้อย่างดี

ภาพจาก http://www.tropicaflore.com

ต้นชมนาดเติบโตได้ดีในเขตร้อนชื้น จึงปลูกกันแพร่หลายในเอเชียอาคเนย์ ชาวมาเลเซียทั่วไปเรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า Kesidang ทางภาคตะวันออกของมาเลเซียเรียกว่า Tikar Seladang ส่วนชาวเกาะชวาของอินโดนีเซียและทางภาคเหนือของมาเลเซียเรียกว่า Kerak Nasi แปลว่าข้าวที่ถูกความร้อนจนเกรียม สาวมาเลเซียและบาหลีนิยมใช้ดอกชมนาดประดับมวยผม และใช้ทำบุหงารำไปสำหรับพิธีการสำคัญอย่างพิธีสุหนัต พิธีจบการศึกษาคัมภีร์อัลกุรอาน งานศพ หรืองานแต่งงาน

บุหงารำไปของชาวมาเลเซียนี้นิยมใช้กลีบดอกชมนาด มะลิ จำปา ลั่นทม กระดังงา และกุหลาบมอญ รวมทั้งเตยหอมและผิวมะกรูดผสมกัน จากนั้นนำไปอบด้วยกำยานเป็นขั้นตอนสุดท้าย แต่บางคนก็ใช้วิธีหยดน้ำมันหอมกลิ่นดอกไม้ต่างๆ รวมทั้งน้ำมันไม้จันทน์หรือน้ำมันไม้กฤษณาลงไปแทนเพื่อเพิ่มความหอมซึ้งตรึงใจ บุหงารำไปนี้จะนำไปบรรจุในถุงผ้าโปร่งหลากสีสัน หรือภาชนะรูปทรงสวยงามอย่างไรก็ได้ งานแต่งงานของชาวมาเลเซียนั้น บุหงารำไปถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องสินสอด ทั้งยังนิยมเผาบุหงาให้ส่งกลิ่นหอมอบอวลตลอดคืนในเรือนหอของบ่าวสาว

ชาวมาเลเซียถือว่าดอกชมนาดสื่อถึงความอ่อนน้อมสุภาพและความเป็นมิตร อันเป็นบุคลิกลักษณะของชาวมะละกาโดยทั่วไป ดอกชมนาดจึงได้รับยกย่องเป็นดอกไม้ประจำรัฐมะละกา   ความงามของดอกชมนาดยังสะท้อนให้เห็นในศิลปะการแกะสลักไม้เป็นลายดอกไม้ ที่มีชื่อเรียกว่า “บุหงา Kerak Nasi” ถือเป็นการจำลองธรรมชาติมาไว้บนวัตถุได้อย่างสวยงามน่าชม

ลายบุหงา Kerak Nasi บนหางของนกแกะสลักขนาดยักษ์ที่ใช้ในงานพระราชพิธีต่างๆ ของชาวมลายู เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, พิธีต้อนรับพระราชอาคันตุกะ หรือพิธีสุหนัต นกแกะสลักในภาพพบที่อาณาจักรปัตตานี ยุคต้นศตวรรษที่ 18 ภาพจากหนังสือ “Spirit of wood: the art of Malay woodcarving: works by master carvers from Kelantan, Terengganu, and Pattani” โดย Farish Ahmad Noor

กลิ่นดอกชมนาดนั้นคล้ายคลึงกับกลิ่นเตยหอม เพราะสารประกอบหลักในกลิ่นดอกชมนาด คือ 2-acetyl-1-pyrroline เป็นสารชนิดเดียวกับที่พบในเตยหอมและข้าวหอมมะลิของไทย รวมทั้งข้าวหอมบัสมาตีซึ่งอินเดียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก สารนี้มีปริมาณมากที่สุดในกลีบดอกชมนาดตากแห้ง รองลงมาคือใบเตยหอมสด และข้าวหอมมะลิตามลำดับ

เพราะความหอมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่แพ้ดอกไม้เมืองร้อนชนิดอื่นนี้เอง ชาวไทยจึงนิยมใช้ดอกชมนาดอบแป้งร่ำ ทำน้ำอบ น้ำปรุง บุหงา ตลอดจนใช้แต่งกลิ่นอาหาร เช่น ทำน้ำลอยข้าวแช่ สะท้อนความละเอียดอ่อนและศิลปะในการใช้ชีวิตของชาวไทยแต่โบราณ น้ำยางสีขาวของต้นชมนาดยังสามารถนำมาใช้รักษาแผล ใช้เป็นยาถ่าย เพิ่มความดันเลือดและกระตุ้นมดลูกได้อีกด้วย

น้ำปรุงสูตรชาววังของไทย มีส่วนผสมของกลิ่นชมนาด ภาพจาก http://www.weloveshopping.com/shop/showproduct.php?pid=13926977&shopid=184568

ผู้เขียนยังไม่เคยพบข้อมูลการสกัดกลิ่นหอมหรือการแต่งกลิ่นสังเคราะห์เลียนกลิ่นชมนาดเพื่อใช้ทำน้ำหอมฝรั่ง ทั้งๆ ที่ชมนาดให้กลิ่นหอมแรงและหอมทนกว่าดอกไม้หลายๆ ชนิดที่กล่าวมาข้างต้น แม้แต่การสกัดกลิ่นอย่างง่ายด้วยการนำกลีบดอกแช่ในเอธานอลก็ยังให้กลิ่นหอมเป็นที่น่าพอใจมาก เมื่อเทียบกับหิรัญญิการ์ที่ให้กลิ่นอ่อนจางและกลิ่นออกเขียว จนนำมาผสมน้ำหอมได้ยาก กลิ่นดอกชมนาดนี้ผู้เขียนตั้งใจจะนำมาผสมผสานกับกลิ่นใบเตย, กลิ่นมะพร้าวน้ำหอม และกลิ่นมะลิ ตบท้ายด้วยวานิลลา และเจือกลิ่นยางไม้และไม้หอมอีกเล็กน้อย คิดว่าคงเป็นน้ำหอมที่ให้กลิ่นหวานน่ากินสไตล์ floral – gourmand แบบที่สาวๆ สมัยนี้นิยมกัน

จะสังเกตได้ว่า ทั้งรูปลักษณ์และกลิ่นหอมของดอกไม้สีขาวเหล่านี้แตกต่างจากไม้หอมวงศ์กระดังงาราวกับอยู่คนละขั้ว หากไม้หอมวงศ์กระดังงาจัดอยู่ในขั้วร้อนเพราะให้กลิ่นอบอุ่นเย้ายวนที่สื่อถึงเสน่ห์ทางเพศ ไม้หอมวงศ์ลั่นทมก็คงจัดอยู่ในขั้วเย็น เพราะมีรูปลักษณ์บอบบางและให้กลิ่นนุ่มนวลชวนชื่นใจ หากจะเปรียบก็คงเป็นผู้หญิงคนละประเภท ซึ่งมีเสน่ห์น่าหลงใหลไปคนละแบบ

ก็คงจะขอจบเรื่องราวความหอมและคุณประโยชน์หลากหลายของดอกไม้สีขาววงศ์ลั่นทมชุดแรกไว้ ณ ที่นี้ คราวหน้าก็จะมาเล่าถึงเรื่องราวของดอกไม้อีกหลายชนิดในวงศ์นี้ที่ล้วนแต่มีกลิ่นหอมน่าประทับใจไม่ต่างกัน…