“เห็นบัวขาวพราวอยู่ในบึงใหญ่                     ดอกใบบุปผชาติสะอาดตา

น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา                             ว่ายวนไปมาน่าเอ็นดู

หมู่ภุมรินบินเวียนว่อน                                   คอยว่อนดมกินกลิ่นเกสร

พายเรือน้อยคล้อยเคลื่อนในสาคร             ค่อยพาจรห่างไปในกลางน้ำ”

เห็นบทร้อยกรองข้างต้นแล้วท่านผู้อ่านคงจำได้ว่าเป็นเนื้อเพลง “บัวขาว” บทเพลงอมตะที่แต่งทำนองโดยหม่อมหลวงพวงร้อย สนิทวงศ์ (อภัยวงศ์) และประพันธ์คำร้องโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล อัจฉริยภาพในการประพันธ์ทั้งเนื้อร้องและทำนองล้วนสื่อให้เห็นภาพความงามผุดผาดของดอกบัวสีขาวที่ชูช่อเหนือผิวน้ำ ส่งกลิ่นหอมขจรขจายล่อเหล่าแมลงที่บินว่อนตอมกลิ่นเกสร เพราะความสวยพิสุทธ์และกลิ่นหอมตราตรึงใจนี้เอง ที่ทำให้ดอกบัวได้รับการขนานนามว่า “ราชินีแห่งไม้น้ำ” เป็นดอกไม้โปรดในใจใครหลายคน

ในที่นี้จึงจะกล่าวถึงดอกบัว 2 สกุลที่มีความสำคัญในด้านสุคนธบำบัด (aromatherapy) และการสกัดน้ำหอม ชนิดแรกคือ บัวหลวง หรือ ปทุมชาติ ที่ฝรั่งเรียกว่า Indian lotus, sacred lotus หรือ bean of India มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nelumbo nucifera อยู่ในวงศ์ Nelumbonaceae

บัวชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย ตั้งแต่เวียดนามไปจนถึงอัฟกานิสถาน และนำเข้าไปปลูกในยุโรปตะวันตกครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1787 โดยนักพฤกษศาสตร์ Joseph Banks  ปัจจุบันบัวหลวงเป็นไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์ในสภาพธรรมชาติของทวีปแอฟริกา แต่เจริญเติบโตแพร่หลายในเอเชียใต้และออสเตรเลีย ถือเป็นดอกไม้ประจำชาติของอินเดียและเวียดนามด้วย

ดอกบัวหลวงจะหยั่งรากในดินโคลนใต้สระหรือแม่น้ำ ใบทรงกลมขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลางยาวได้ถึง 60 เซนติเมตร ลอยอยู่บนผิวน้ำ ก้านดอกยาวแข็งแรงตั้งขึ้นเหนือน้ำ ส่วนดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร  มี 2 สี ดอกสีชมพูมีชื่อเรียกว่า ปัทม์ หรือสัตตบงกช ส่วนดอกสีขาวเรียกว่า สัตตบุษย์

วิกิพีเดียหรือสารานุกรมเสรี ให้ข้อมูลไว้ว่า บัวหลวงนี้ถือเป็นพืชเก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่งในโลก เมล็ดดอกบัวหลวงที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุถึง 1,300 ปี ขุดพบในบริเวณที่เคยเป็นทะเลสาบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน นักชีววิทยาพบว่าเมล็ดบัวหลวงที่ถูกขุดพบและมีอายุเกือบ 500 ปีมาแล้วยังสามารถงอกออกมาเป็นต้นใหม่ได้ นับว่ามีความทนทานต่อรังสีแกมมาในดิน เป็นที่น่าสนใจศึกษาถึงกลไกการซ่อมแซมตนเองของไม้ชนิดนี้ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาพันธุ์พืชชนิดอื่น เช่น ธัญพืชชนิดต่างๆ ให้มีวงจรชีวิตยาวนานขึ้นได้

ดอกบัวหลวงนี้ยังมีคุณสมบัติพิเศษตรงที่สามารถปรับอุณหภูมิภายในดอกให้สูงขึ้นได้เองไม่ต่างจากมนุษย์และสัตว์เลือดอุ่นชนิดอื่นๆ แม้ว่าอุณหภูมิภายนอกจะลดต่ำลงก็ตาม ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อแมลงที่มาผสมเกสร ดอกบัวหลวงบางพันธุ์ยังแตกต่างจากไม้ดอกอื่นตรงที่ไม่ค่อยชอบแสงแดด บางพันธุ์บานตอนกลางคืนและหุบลงในเวลากลางวัน ขณะที่ดอกไม้ทั่วไปมักบานสะพรั่งรับแดดกันอย่างเต็มที่ จึงถือเป็นไม้ดอกที่มีวงจรชีวิตโดดเด่นกว่าพืชทั่วไป

ชาวเอเชียถือว่าบัวหลวงเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความสงบสันติ การบรรลุธรรม การเกิดใหม่ และความอุดมสมบูรณ์ ทั้งพุทธและพราหมณ์ต่างถือว่าดอกบัวหลวงเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิและเป็นต้นไม้ต้นแรกที่เกิดขึ้นบนโลก ชาวฮินดูเรียกบัวหลวงว่า ปัทมา ส่วนคำว่า ปทุม ในภาษาบาลีแปลว่า ต้นไม้ต้นแรก

ตำนานการสร้างโลกของศาสนาฮินดูระบุว่า พระนารายณ์ทรงรำพึงถึงการสร้างโลก จึงทรงแบ่งภาคออกเป็นพระวิษณุเพื่อให้ปฏิบัติภารกิจตามพระประสงค์ พระวิษณุนี้ทรงประทับอยู่บนบัลลังก์อนันตนาคราชในเกษียรสมุทร เมื่อบรรทมหลับไปก็สุบินนิมิตถึงพระกรณียกิจที่จะสร้างสรรค์สรรพสิ่ง พลันดอกบัวได้ผุดขึ้นจากพระนาภีและเหนือดอกบัวนั้นเป็นที่ประทับของพระพรหมซึ่งถือกำเนิดขึ้นเพื่อสร้างโลก ชาวอินเดียเชื่อว่าดอกบัวคือต้นกำเนิดของจักรวาล รูปเคารพในศาสนาฮินดูมักเป็นรูปเทพเจ้าประทับอยู่บนดอกบัวขนาดใหญ่ กลีบบัวที่บานออกนี้หมายถึงการเติบโตทางจิตวิญญาณ องค์เทพสำคัญอย่างพระนารายณ์และพระพรหมต่างก็ประทับบนดอกบัว เช่นเดียวกับพระอาทิตย์ซึ่งสถิตบนแท่นดอกบัว พระลักษมีผู้ถือกำเนิดจากฟองน้ำในเกษียรสมุทรก็ประทับบนดอกบัว ทั้งยังทรงมีกลิ่นกายหอมราวกับดอกบัวฟุ้งขจรไปไกลถึง 200 โยชน์ ส่วนพระสุรัสวดี มเหสีของพระพรหม ทรงประทับบนดอกบัวอันสื่อถึงสัจธรรมหรือความจริงสูงสุด

พระแม่ลักษมี เทวีแห่งความงามของฮินดู ที่มาภาพ : http://www.happyandfree.com

ในพุทธศาสนา ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะจำนวนดอกบัวที่งอกงามขึ้นในขณะเริ่มต้นกัปใหม่ เป็นนิมิตบ่งชี้ถึงจำนวนผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกัปนั้น ธรรมชาติของบัวนั้นยังแฝงปรัชญาลึกซึ้ง เตือนให้นึกถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่ย่อมมีกิเลสอวิชชาเป็นเครื่องร้อยรัดมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบมนุษย์หลายประเภทเหมือนดอกบัว 4 เหล่า ต่างมีสติปัญญาเข้าถึงธรรมะแตกต่างกัน ตั้งแต่ระดับที่จมอยู่ในโคลนคือผู้ที่มีกิเลสอวิชชาพอกพูนมาก จะฝึกฝนขัดเกลาอย่างไรก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ในชาตินั้น ไปจนถึงบุคคลผู้มีสติปัญญามาก เมื่อได้สดับพระธรรมเทศนาเพียงครั้งเดียวก็สามารถตรัสรู้ได้ฉับพลัน เปรียบได้กับบัวที่ชูช่ออวดความงามอยู่เหนือผิวน้ำพร้อมจะผลิบานรับแสงอรุณ

ความงามและความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ของดอกบัวหลวง กลายเป็นแรงบันดาลใจของศิลปินไทยที่สะท้อนรูปลักษณ์ของดอกบัวออกมาในศิลปะหลากหลายแขนง ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม รวมถึงการเรียงร้อยถ้อยคำกล่าวชมความงามของบัวในวรรณศิลป์และคีตศิลป์ทั้งแบบประเพณีและร่วมสมัยก็มีอยู่มากมาย สะท้อนถึงค่านิยมการชื่นชมความงามของดอกบัวหลวงที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ

ในศาสนาพุทธนิกายมหายาน พระแม่กวนอิมมหาโพธิสัตว์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความกรุณาก็ประทับบนดอกบัวหรือถือดอกบัวในพระหัตถ์ ชาวจีนเรียกดอกบัวว่า “เหอฮวา” หรือ “เหลียนฮวา” เป็นดอกไม้ที่สื่อถึงความงามและความบริสุทธิ์ ดังที่มีการกล่าวถึงมากมายในวรรณคดีโบราณของจีน ชาวจีนโบราณยังถือว่า วันที่ 24 ของเดือน 6 เป็นวันเกิดของดอกบัว จึงมีการจัดงานเทศกาลวันเกิดของดอกบัวและมีการแข่งเรือกันอย่างตระการตาในเมืองซูโจว

ภาพ Hylas and the Nymphs โดย John William Waterhouse

บัวอีกชนิดที่รู้จักกันแพร่หลาย คือบัวสายหรืออุบลชาติ ฝรั่งเรียกว่า water lily มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า  Nymphaea อยู่ในวงศ์ Nymphaeaceae ชื่อนี้บ่งบอกความเป็นไม้น้ำได้อย่างดี เพราะคำว่า nymph หมายถึงนางไม้ซึ่งสิงสถิตอยู่ตามแม่น้ำ ต้นไม้ หรือภูเขาในเทพปกรณัมของกรีก บัวชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในเขตภูมิอากาศร้อน คนไทยเรียกบัวสายเพราะใช้ “สายบัว” หรือก้านดอกมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู บัวสายมีหลายพันธุ์ซึ่งมีลักษณะและสีสันต่างกันไป ล้วนมีชื่อเรียกไพเราะเพราะพริ้งในภาษากวีของไทย ซึ่งในหนังสือ “ดอกไม้และประวัติไม้ดอกเมืองไทย” ของคุณวิชัย อภัยสุวรรณ นั้น ผู้เขียนได้ประมวลรายชื่อบัวสายนานาชนิดมาจากข้อมูลของสมาคมไม้ประดับแห่งประเทศไทย ดังนี้

บัวสายชนิด Nymphaea lotus (ใต้ใบไม่มีขน) และชนิด Nymphaea lotus pubescens (ใต้ใบมีขน) มีอาทิ

บัวสัตตบรรณ หรือสัตบัน ดอกขนาดใหญ่สีแดง มีกลิ่นหอมแรง

บัวกินสายสีชมพู มีดอกขนาดใหญ่สีชมพู กลิ่นหอมแรงคล้ายบัวสัตตบรรณ

บัวสัตบุต หรือ สัตตบุษย์ มีต้นใบคล้ายสองชนิดแรก แต่ดอกเป็นสีขาว

บัวรัตอุบล มีดอกสีแดงขนาดเล็กกว่าสามชนิดข้างต้น กลิ่นหอมแรง

บัวเศวตอุบล มีดอกขนาดเล็กเช่นเดียวกัน แต่ดอกสีขาว

บัวโกมุท เป็นบัวขนาดเล็ก ชาวบ้านเรียกบัวกินสายเช่นกัน ดอกสีแดง กลิ่นค่อนข้างหอม

บัวโกเมศ ลักษณะเหมือนบัวโกมุท แต่ดอกสีขาวเหลือบชมพู

บัวจงกลนี หรือจงกล ขนาดใหญ่ไล่เลี่ยกับบัวสัตตบรรณและบัวสัตตบุษย์ กลีบดอกหยิกซ้อนกันแน่น

บัวสายสีชมพูดูอ่อนหวานบอบบาง ที่มาภาพ : http://www.toptropicals.com

บัวสายชนิด Nymphaea nouchali เป็นบัวสายขนาดเล็ก ดอกบานตอนสายและหุบกลีบตอนบ่าย มีกลิ่นหอมอ่อนๆ หลังใบเป็นสีแดงคล้ำ ประกอบด้วย

บัวเผื่อน ดอกเล็กสีขาวซีดเจือสีครามจางๆ

บัวผัน ลักษณะเหมือนบัวเผื่อน แต่ดอกเมื่อบานแล้วเปลี่ยนจากสีครามอ่อนๆ เป็นสีม่วงเข้ม

บัวสายชนิด Nymphaea capensis ดอกบานตอนสายและหุบตอนเย็น ขอบใบเป็นจักแบบฟันเลื่อย มีอาทิ

บัวสุทธาสิโนบล มีดอกใหญ่สีม่วงอมน้ำเงินหรือม่วงอมแดงที่เรียกว่าสีกุหลาบแก่ กลิ่นหอมแรง มีถิ่นกำเนิดบนเกาะ Zanzibar ประเทศแอฟริกาใต้ พระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาฎปิยมหาราชปดิวรัดา พระอัครชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำมาจากเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2444 จึงได้รับการขนานนามว่า “สุทธาสิโนบล” ฝรั่งเรียกว่า Royal Purple

บัวสายชนิด Nymphaea cyanea คล้ายบัวผัน บัวเผื่อน แต่ขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย ดอกบานกลางวัน กลิ่นไม่หอมมากนัก มีอาทิ

บัวนิลุบล นิลอุบล หรือนิโลตบล เรียกทั่วไปว่า บัวขาบ ภาษาถิ่นภาคเหนือเรียกว่า ป้านดำ หรือ ป้านสังก๋อน ดอกใหญ่สีม่วงคราม ก้านดอกสีม่วงแดง

ในอียิปต์สมัยโบราณนั้น ดอกบัวหลวงยังไม่เป็นที่รู้จัก เพราะถูกนำเข้ามาภายหลังในยุคที่ถูกรุกรานโดยอาณาจักรเปอร์เซีย ต่อมาเมื่อมีการค้นพบซากดอกบัวแห้งในสุสานของกษัตริย์รามเสสและตุตันคาเมน ก็เรียกกันว่า “sacred Lotus of the Nile” ทำให้มีผู้เข้าใจผิดว่าเป็นบัวหลวง หรือ lotus ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nelumbo nucifera อยู่นาน ก่อนที่นักพฤกษศาสตร์จะจำแนกได้ภายหลังว่าเป็นดอกบัวสาย หรือ Nymphaea lotus ดอกบัวสายนี้ได้เจริญแพร่พันธุ์ในแม่น้ำไนล์ จึงเป็นเครื่องหมายของความบริสุทธิ์ มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่าชาวอียิปต์สมัยนั้นนิยมล่องเรือชมบัวในแม่น้ำไนล์ด้วย

ดอกบัวที่ถือเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิของอียิปต์ก็คือชนิดสีน้ำเงินนั่นเอง ดังจะเห็นภาพบัวชนิดนี้อยู่ตามผนังสุสานสมัยโบราณ เช่นเดียวกับหัวเสาซึ่งนิยมสลักรูปดอกบัวด้วย ความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ทำให้ดอกบัวชนิดนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศอียิปต์ตอนบนไปเลยทีเดียว

ดอกบัวสีน้ำเงินนี้มีความเชื่อมโยงกับตำนานเรื่องการสร้างโลก ซึ่งชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า เดิมจักรวาลเป็นที่มืดเต็มไปด้วยมหาสมุทร ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ ต่อมามีดอกบัวสีน้ำเงินขนาดยักษ์ผุดขึ้นจากน้ำและค่อยๆ แย้มกลีบออก พระผู้สร้างที่ถือกำเนิดขึ้นทรงประทับอยู่ตรงใจกลางดอกซึ่งเป็นสีทอง กลิ่นหอมหวานจากดอกบัวได้อบอวลไปทั่วพื้นน้ำ แสงสว่างสาดส่องออกมาจากร่างของพระองค์เพื่อขับไล่ความมืดให้อันตรธานไป พระผู้สร้างนี้ก็คือองค์สุริยเทพ “รา” ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของสรรพชีวิตนั่นเอง จากนั้นดอกบัวจะหุบกลีบลงเมื่อสิ้นวัน ความวุ่นวายจึงเกิดขึ้นตลอดทั้งคืนจนกว่าพระผู้สร้างจะปรากฏตัวอีกครั้ง เมื่อพระองค์ปรารถนาจะสร้างสรรพสิ่งมาอยู่ร่วมกันในโลกใหม่ ความคิดของพระองค์จึงก่อกำเนิดเป็นเหล่าเทพเจ้าและสิ่งมีชีวิตทุกชนิด

ที่มาภาพ : http://www.hiren.info

ชาวอียิปต์ถือว่าเกสรสีเหลืองทองใจกลางดอกบัวสีน้ำเงิน เปรียบได้กับแสงสว่างของพระอาทิตย์ที่ตัดกับขอบฟ้า ดอกบัวชนิดนี้บานยามเช้าและหุบกลีบในเวลาบ่าย จึงเตือนให้นึกถึงการขึ้นและตกของพระอาทิตย์ เชื่อกันว่าวิญญาณของคนตายจะกลับเข้าร่างใหม่เหมือนดอกบัวสีน้ำเงินแย้มกลีบบานอีกครั้งเพื่อรับแสงอาทิตย์ยามเช้า ถือเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่หลังความตาย บัวชนิดนี้จึงมักถูกใช้ในพิธีศพ ดังจะเห็นว่าโลงทองชั้นในสุดของกษัตริย์ตุตันคาเมนก็ถูกโปรยทับด้วยกลีบบัวสีน้ำเงิน

เทพเนเฟอร์เตม ซึ่งเป็นเทพแห่งการเยียวยา เครื่องสำอางและเครื่องหอมของชาวอียิปต์โบราณ ก็ถือเป็นเทพแห่งดอกบัวสีน้ำเงินด้วย มักปรากฏในภาพวาดโดยมีมงกุฎดอกบัวสีน้ำเงินอยู่บนเศียร บางตำราว่าพลังอำนาจในการเยียวยาของเทพเนเฟอร์เตมจะถูกส่งผ่านทางดอกไม้ ตำนานว่าเทพเนเฟอร์เตมเคยนำดอกบัวสีน้ำเงินไปถวายสุริยเทพ “รา” เพื่อใช้เยียวยาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย จึงเชื่อว่าชาวอียิปต์โบราณใช้สารเสพติดจากกลีบบัวเพื่อรักษาโรคและใช้ผสมไวน์ดื่มในงานเฉลิมฉลองต่างๆ ส่วนชนชั้นสูงก็มักใช้บัวสีน้ำเงินและแมนเดรกผสมในตัวยาสำหรับบำบัดโรค ใช้สะกดจิตและใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิหรือการบูชาเทพเจ้า สอดคล้องกับการศึกษาวิจัยในปัจจุบันที่พบว่าดอกบัวสีน้ำเงินนี้มีสาร nuciferine และaporphine ซึ่งทำให้เกิดอาการเคลิมเคลิ้มมึนเมาคล้ายเสพกัญชา หากใช้ในปริมาณมากอาจทำให้ประสาทหลอนได้

ดอกบัวสายถือเป็นสัญลักษณ์ของความเย้ายวนทางเพศอีกด้วย บันทึกในกระดาษปาปิรุสมีภาพวาดหญิงกึ่งเปลือยมีดอกบัวประดับอยู่บนศีรษะ ส่วน Qedeshet เทวีแห่งความรักของซีเรียซึ่งชาวอียิปต์นับถือด้วยก็เป็นหญิงเปลือยประทับอยู่บนหลังสิงโต หัตถ์ถืองูและดอกบัวตูม ดอกบัวตูมนี้สื่อถึงเพศและการสืบพันธุ์ เพราะชาวอียิปต์เชื่อว่าเรื่องเพศเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรพชีวิต ดอกบัวซึ่งเป็นดอกไม้แห่งการกำเนิดของสรรพสิ่งจึงถูกเชื่อมโยงกับความเย้ายวนทางเพศไปโดยอัตโนมัติ ภาพสตรีถือดอกบัวอาจสื่อถึงความสามารถในการสืบพันธุ์หรือเสน่ห์ทางเพศของหญิงผู้นั้น

ดอกบัวสายหรือ water lily นี้ยังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของศิลปินตะวันตกในยุคหลังอย่าง Claude Monet จิตรกรเอกในกลุ่ม Impressionism ซึ่งวาดภาพบัวไว้ทั้งหมดราว 250 ภาพ ต้นแบบของภาพเหล่านี้ก็คือดอกบัวในสวนของเขาเองที่ Giverny ประเทศฝรั่งเศส ถือเป็นธีมหลักในงานของ Monet ตลอดช่วง 30 ปีสุดท้ายในชีวิต อันเป็นระยะที่เขาทนทุกข์ทรมานจากโรคต้อกระจก ในปี ค.ศ. 1923 Monet ได้เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก ซึ่งแม้จะรักษาอาการให้ดีขึ้นได้ แต่ก็ยังส่งผลต่อการมองเห็นของเขา ภาพดอกบัวที่วาดขึ้นในช่วงนี้จึงออกโทนน้ำเงินมากกว่าปกติไปด้วย ปัจจุบันภาพเหล่านี้ยังถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ในปี 2007 ภาพดอกบัวสายภาพหนึ่งของเขาถูกประมูลไปในราคาสูงถึง 18.5 ล้านปอนด์ (ราว 925 ล้านบาท) ที่สถาบัน Sotheby’s  ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และต่อมาในปี 2008 ภาพ Le Bassin aux Nympheas ของเขาก็มีผู้ประมูลไปในราคามหาศาลถึงเกือบ 41 ล้านปอนด์ (ราว 2,050 ล้านบาท)

ภาพวาดดอกบัวสายจากปลายพู่กันของ Claude Monet

กลิ่นหอมของดอกบัว

ดอกบัวหลวงมีกลิ่นหอมอ่อนละมุนเจือกลิ่นชุ่มฉ่ำของน้ำและกลิ่นเย็นสดชื่นคล้ายมินต์ ชวนให้นึกถึงความงามของธรรมชาติอันเขียวขจีในสวนหรือป่าเขตร้อน กลิ่นบัวหลวงมีสรรพคุณสร้างสมดุลทางอารมณ์ ทำให้จิตใจสงบ ผ่อนคลาย เกิดสมาธิหรือการจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ไม่ยึดติดอยู่ในอดีตหรือวิตกกังวลถึงอนาคต ว่ากันว่าดอกบัวหลวงสีชมพูนั้นให้น้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นหอมหวานมากที่สุดในบรรดาดอกบัวหลวงทุกพันธุ์ ชาวโรมันใช้สารสกัดจากดอกบัวหลวงในรูปขี้ผึ้งทารักษาอาการหืดและอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เชื่อว่ากลิ่นบัวหลวงมีสรรพคุณช่วยให้หายใจลึกและสะดวกขึ้น ทำให้ร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนดอกบัวสายนั้นกลิ่นจะออกหวานเข้มข้นกว่า มีผู้เปรียบว่าคล้ายกลิ่นดอกไฮยาซินธ์ เจือกลิ่นกล้วยหอมเล็กน้อย เชื่อว่ามีสรรพคุณทำให้จิตใจเคลิบเคลิ้มเป็นสุข ทำให้อารมณ์สงบเย็นและเกิดความตระหนักรู้

บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ aromatherapy บางแห่งของอินเดียอ้างว่ากลิ่นดอกบัวแต่ละชนิดมีสรรพคุณแตกต่างกัน ซึ่งล้วนมีประโยชน์ในการชำระจักรต่างๆ ให้บริสุทธิ์ ทำให้เกิดความสงบ สมาธิและการหยั่งรู้ ดอกบัวสีขาวมีผลต่อจักรสหัสธารซึ่งอยู่ตรงกลางกระหม่อม ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของสมองและระบบประสาท ดอกบัวสีชมพูมีผลต่อจักรอนาหตะซึ่งอยู่ตรงกลางหน้าอก ทำหน้าที่ควบคุมการเต้นของหัวใจและระดับความดันโลหิต ส่วนบัวสีน้ำเงินมีผลต่อจักรวิสุทธะซึ่งอยู่ตรงคอหอย ทำหน้าที่ควบคุมระบบการหายใจและภูมิต้านทานในร่างกาย

ทั้งดอกบัวหลวงและดอกบัวสายสามารถนำไปสกัดหัวน้ำมันสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมและสุคนธบำบัด แน่นอนว่าหัวน้ำมันดอกบัวทั้งสองชนิดต่างก็หายากและมีราคาแพงมาก เพราะต้องใช้กลีบดอกจำนวนมากในการสกัดหัวน้ำมันปริมาณเล็กน้อย จึงไม่สามารถรับประกันได้ว่าหัวน้ำมันดอกบัวที่มีขายตามร้านผลิตภัณฑ์ aromatherapy ทั่วไปนั้นเป็นของแท้หรือไม่ ผู้เขียนสรุปเอาเองว่าคงไม่ต่างจากดอกไม้ชนิดอื่นอย่างมะลิ หรือ ซ่อนกลิ่น ซึ่งการผลิตหัวน้ำมันแท้มีต้นทุนสูงมาก ผู้ผลิตบางรายจึงอาจใช้วิธีเติมสารสังเคราะห์ลงไปบ้างหรือใช้สารสกัดจากพืชชนิดอื่นๆ ผสมกันให้ได้กลิ่นใกล้เคียงของจริง ทั้งนี้หัวน้ำมันดอกบัวหลวงหรือบัวสายของแท้ที่มีขายทั่วไปมักผ่านกรรมวิธี solvent extraction คือการสกัดกลิ่นโดยใช้ตัวทำละลาย อีกวิธีที่ให้กลิ่นหอมคุณภาพสูงกว่าคือ supercritical CO2 extraction แต่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งทำให้หัวน้ำมันดอกบัวที่ผลิตได้มีราคาแพงมาก

น้ำหอมกลิ่นบัวและดอกไม้น้ำ ที่เน้นความบริสุทธิ์อ่อนโยนของสาวน้อยแรกรุ่น ที่มาภาพ : www.imagesdeparfums.fr

น้ำหอมกลิ่นบัวและดอกไม้น้ำ ที่เน้นความบริสุทธิ์อ่อนโยนของสาวน้อยแรกรุ่น ที่มาภาพ : http://www.imagesdeparfums.fr

กลิ่นดอกบัวนั้นสามารถผสานเข้ากันได้ดีกับกลิ่นสังเคราะห์แนว marine หรือกลิ่น ozone ซึ่งชวนให้นึกถึงความสดชื่นของน้ำและอากาศบริสุทธิ์ กลิ่นออกเปรี้ยวซาบซ่านของผลไม้ตระกูลส้มและผลไม้หวานหอมอย่างลูกเมลอน หรือกลิ่นดอกไม้ชนิดอื่นที่หอมเย็นชื่นใจ เช่น มะลิ, ลิลลี่ ออฟ เดอะ แวลลีย์,ไซคลาเมน, ฟรีเซีย และดอกโบตั๋นหรือพีโอนี น้ำหอมกลิ่นบัวหรือดอกไม้น้ำที่โด่งดังจนสาวๆ รุ่นใหม่รู้จักกันดี คือ L’Eau d’Issey ของ Issey Miyake และ L’Eau par Kenzo ของ Kenzo สองดีไซเนอร์ดังชาวญี่ปุ่น ซึ่งก็ได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมเอเชีย ในการสร้างสรรค์กลิ่นหอมที่สดชื่นใสเย็นราวกับกระแสน้ำ สื่อถึงความบริสุทธิ์และอ่อนเยาว์ของสาวแรกรุ่นได้อย่างดี

*ผู้ที่ต้องการนำบางส่วนของบทความไปเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์ชนิดต่างๆ กรุณาระบุที่มาของข้อมูลด้วย…ขอบคุณค่ะ

น้ำหอมกลิ่นบัวหรือที่ใช้กลิ่นบัวเป็นส่วนผสม

mainstream/classic brands : Chic by Celine Dion Parfums, Into the Blue by Escada, Splash – Gardenia by Marc Jacobs, Omnia Crystalline by Bulgari, L’Eau d’Issey by Issey Miyake, L’Eau par Kenzo และ Kensoki by Kenzo, Blue by Ralph Lauren, Cool Water Woman by Davidoff, Ô Oui! by Lancôme, Fleur d’Eau by Rochas, Oh! De Moschino

niche/exclusive brands : Lotus Blossom & Dark Amber และ Lotus Blossom & Water lily by Jo Malone (limited edition), Lys Méditerranée by Frederic Malle, Eau des Lagons by Comptoir Sud Pacifique, Waterlily by Ava Luxe, Vicolo Fiori by Etro, Lotus by Matthew Williamson, Incanto by i Profumi di Firenze, Trish by Trish McEvoy, Lotus Garden by Pacifica, Loto by I Coloniali, Miss Marisa by Ebba, Nymphea by IL PROFUMO, Nenúfar by Scents of Time, Pink Lotus by Aftelier, Lotus Blossom by Susanne Lang, Lotus Blossom และ Padme Lotus by Dawn Spencer Hurwitz, Eau Egyptienne by Cinq Mondes