ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านนวนิยายสองเรื่องซึ่งกล่าวถึงการปรุงอาหารไว้อย่างน่าสนใจ เรื่องแรกนั้นเกี่ยวข้องกับอาหารโดยตรง ส่วนเรื่องที่สองนั้นแม้แนวคิดหลักจะไม่ใช่เรื่องอาหาร แต่ก็มีการฉายภาพการปรุงอาหารไว้อย่างพิสดาร สิ่งที่ผู้เขียนสนใจก็คือการที่นวนิยายสองเรื่องนี้กล่าวถึงผู้หญิงสองคนซึ่งใช้การปรุงอาหารเป็นเครื่องมือปลดปล่อยความปรารถนาในจิตใต้สำนึก จินตนาการ อารมณ์ ความรู้สึก ที่ถูกกดอัดกักขังไว้ด้วยความแปลกแยกโดดเดี่ยวจากสังคมรอบตัว และใช้การทำครัวเป็นเครื่องมือต่อสู้และต่อรองกับจารีตประเพณีที่เคร่งครัดและความคาดหวังของสังคม

ตีตา ตัวละครเอกในนวนิยาย “Like Water for Chocolate” ของเลารา เอสกีเบล (ฉบับแปลเป็นภาษาไทยมีชื่อว่า “รักซ้อนซ่อนรส” โดยจิตราภรณ์) เป็นลูกสาวคนสุดท้องของครอบครัวเม็กซิกันในยุคสงครามปฏิวัติ เธอมีมารดาผู้เข้มงวดและยึดถือในจารีตประเพณี ตีตายังมีพี่สาว 2 คนที่ต่างจากตัวเธออย่างสิ้นเชิง มีเพียง นาชา พี่เลี้ยง ผู้รักใคร่ผูกพันเสมือนเธอเป็นลูกสาว ทั้งยังประสิทธิ์ประสาทวิชาการครัวแก่ตีตา แต่สุดท้ายนาชาก็ตายจากไป ตีตาพบรักกับหนุ่มชื่อเปโดร แต่ก็ถูกมารดาผู้ยึดถือกฎจารีตอันเข้มงวดกีดกันทุกวิถีทาง ด้วยความเชื่อว่าลูกสาวคนสุดท้องไม่มีสิทธิ์ได้แต่งงาน เพื่อจะได้อุทิศชีวิตปรนนิบัติมารดาตลอดไป ตีตาจึงไม่อาจแม้จะตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตของตัวเองได้ เธอไม่กล้าตัดสินใจขอให้เปโดรพาเธอหนีไป จึงต้องอดทนอยู่ในบ้านต่อไปในฐานะแม่ครัวประจำไร่ ครัวจึงกลายเป็นพื้นที่เดียวที่ตีตาสามารถใช้ต่อสู้และต่อรองกับอำนาจของมารดาผู้เป็นสัญลักษณ์ของขนบจารีตอันเข้มงวดของสังคม

ปกติแล้วกระบวนการทำอาหารจะถูกกำกับควบคุมโดยมารดาของเธอ ซึ่งบังคับให้เธอทำอาหารตามขนบดั้งเดิมอย่างเคร่งครัด แต่ด้วยความเชี่ยวชาญในการปรุงอาหารอย่างเหนือธรรมดาของตีตา เธอสามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือประยุกต์สูตรและส่วนผสมต่างๆ ให้อาหารนั้นมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ได้อย่างที่คนอื่นไม่สามารถทำได้เสมอเหมือน โดยที่มารดาของเธอเองก็ไม่สามารถเข้าไปกำกับควบคุมได้ การปรุงอาหารนั้นตามธรรมดาแล้วมีสูตรที่ตายตัวก็จริง แต่ก็เปิดโอกาสให้ผู้ปรุงได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการปรับปรุงพลิกแพลง เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามตำราเสมอไป ผู้ที่ทำครัวเป็นจะต่างจากผู้ที่ทำครัวไม่เป็นตรงที่มีความคุ้นชินกับอุปกรณ์และส่วนผสมต่างๆ จนเกิดความกล้าและมั่นใจที่จะทดลองทำอะไรแปลกใหม่เพื่อปรับปรุงเนื้อสัมผัสและกลิ่นรสของอาหารให้ดีขึ้นได้ ขณะที่ผู้ไม่เคยทำครัวมาก่อนจะยึดตำราอย่างตายตัวซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงเสมอไป ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาหาร

ตีตาได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองอินเดียนแดง ซึ่งเธอรับมาจากนาชาที่เธอผูกพันใกล้ชิดมาตั้งแต่ยังเด็ก ดังที่เนื้อความในนวนิยายได้บรรยายไว้ว่าตีตาสามารถรับประทานอาหารพื้นเมืองแปลกๆ ทุกอย่างได้ตั้งแต่ยังเด็ก ขณะที่พี่สาวทั้งสองคนของเธอไม่เคยคิดจะแตะต้อง ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นคนเปิดกว้าง ไม่ยึดติดกับกฎเกณฑ์ และการยอมรับในภูมิปัญญาของคนชาติพันธุ์อื่นของตีตา นาชายังได้ถ่ายทอดความรู้ในการประกอบอาหารซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษแก่ตีตา ทำให้อาหารที่เธอปรุงมีเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนใคร ทั้งยังทำให้เธอได้ความรู้ในภูมิปัญญาพื้นบ้านและตำรายาแผนโบราณ ซึ่งกลายเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวและชุมชนในเวลาต่อมา ยิ่งเน้นย้ำอำนาจและบทบาทของผู้หญิงในฐานะผู้บำรุงเลี้ยงดูและรักษา ซึ่งมีความสำคัญต่อชุมชนไม่แพ้อำนาจของผู้ชาย

การทำครัวของตีตายังเป็นการปลดปล่อยอารมณ์และแสวงหาอิสรภาพของผู้หญิง เมื่อเธอถูกมารดาทำร้ายจิตใจด้วยการยกพี่สาวให้แต่งงานกับชายคนรักของเธอ ตีตากลั่นเอาน้ำตาและความโศกเศร้าอาดูรออกมาเป็นขนมเค้กแต่งงาน ที่ทำให้แขกในงานกินเข้าไปแล้วรู้สึกโศกเศร้า ตีตาใช้ช่อกุหลาบที่เปโดรให้มาแปรเป็นเมนูนกกระทาอบซอสกลีบกุหลาบเพื่อสื่อความรักต้องห้ามของเธอไปถึงเขา เมื่อ เคิร์ตรูดิส พี่สาวของเธอรับประทานอาหารจานนี้เข้าไป ก็เกิดตัณหาราคะรุ่มร้อน กลิ่นกุหลาบที่ระเหยจากร่างของเคิร์ตรูดิสโชยไปไกลถึงสนามรบ ทำให้ฮวน นายทหารฝ่ายปฏิวัติได้ละทิ้งกองทัพเพื่อตามกลิ่นกุหลาบมายังไร่ เหล่านี้แสดงถึงพลังอำนาจของอาหารที่เป็นสื่อนำพาอารมณ์ความรู้สึกของผู้ปรุงไปให้ผู้กินหรือผู้รับกลิ่นสามารถรับรู้และเข้าถึงได้

คัลฟี่ เป็นอีกตัวละครหนึ่งที่น่าสนใจในนวนิยายเรื่อง “Hullabaloo in the Guava Orchard” ของ กิราน เดซาย ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผู้หญิงในวรรณกรรมที่ใช้การทำอาหารเป็นเครื่องมือปลดปล่อยความปรารถนาในจิตใต้สำนึกและทวงคืนอำนาจของความเป็นแม่ที่มีหน้าที่ปกปักรักษาและทะนุบำรุงเลี้ยงดูบุตรของเธอ

คัลฟี่คล้ายกับตีตาตรงที่เกิดในครอบครัวอินเดียซึ่งยึดถือจารีตประเพณีเช่นเดียวกับชาวอินเดียทั่วไป ที่นี่หญิงสาวรุ่นจะถูกคาดหวังจากสังคมให้มีคุณสมบัติสมบูรณ์เพียบพร้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดในชีวิตสำหรับพวกเธอซึ่งก็คือการได้แต่งงานเข้าไปอยู่ในครอบครัวที่ดี ครอบครัวของคัลฟี่จึงพยายามปกปิดอาการ ‘ประหลาด’ ของเธอที่เริ่มฉายแววความหมกมุ่นกับอาหารตั้งแต่ครบรอบวันเกิดอายุ 20 ปี พวกเขาเกรงกลัวว่าถ้าอาการประหลาดของเธอแพร่งพรายไปถึงหูคนอื่นๆ เธอจะต้องติดอยู่กับพวกเขาตลอดไป จึงกำจัดเธอออกไปให้ครอบครัวใดก็ได้ที่ยินดีจะรับเธอเป็นลูกสะใภ้ คัลฟี่จึงถูกยกให้แต่งงานกับชวาลา ซึ่งอยู่ในวรรณะต่ำกว่า พร้อมด้วยสินสอดที่คุณนายอัมมา แม่ของชวาลาปฏิเสธไม่ได้

ชวาลาเป็นตัวละครที่ดูจะถอดแบบมาจากชาวอินเดียยุคเก่าทั่วไปที่ยึดถือในจารีตประเพณี และทนไม่ได้กับความแปลกประหลาดผิดปกติหรือการแสดงอารมณ์ความรู้สึกอ่อนไหวใดๆ แน่นอนว่าคัลฟี่นั้นต้องดูไม่ปกติในสายตาของชวาลา แต่ความจริงข้อนี้ก็ทำให้เขาพึงใจอยู่อย่างหนึ่งตรงที่ว่าเขาสามารถทำหน้าที่ผู้นำครอบครัวได้อย่างเต็มที่ ซึ่งก็รวมถึงการควบคุมกำกับชีวิตของลูกทั้งสอง คือ สัมพัทธ์ กับ พิงค์กี้ ให้เป็นไปตามอุดมคติของเขาด้วย ข้างฝ่ายคุณนายอัมมานั้นก็พอใจเช่นกัน เพราะบทบาทที่น้อยนิดของคัลฟี่ทำให้เธอสามารถยึดครองพื้นที่ในครัวและพื้นที่ในชีวิตของลูกชาย โดยไม่ถูกกีดกันออกไปเหมือนๆ กับหลายครอบครัวที่แม่สามีถูกทอดทิ้งหรือทำให้เป็นส่วนเกิน

แม้ว่าทั้งสามีและแม่สามีจะไม่ได้กดขี่หรือกระทำไม่ดีกับเธอ แต่ก็ไม่ได้ปล่อยให้คัลฟี่ได้แสดงความสามารถหรือทำหน้าที่ต่อครอบครัวในแบบของเธอ สภาพดังกล่าวจึงเป็นการสร้างความแปลกแยกให้กับคัลฟี่ที่มักจะแยกตัวอยู่โดดเดี่ยว ไม่เข้าไปก้าวก่ายในครัวซึ่งยกให้เป็นหน้าที่ของคุณนายอัมมาที่ต้องทำอาหารเลี้ยงสมาชิกในครอบครัวทุกคน คัลฟี่จึงมักจะจมอยู่กับความฝันและจินตนาการเรื่องอาหารของเธอ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความต้องการแสดงความสามารถและคุณค่าของตัวเองข้อหนึ่ง และสะท้อนความปรารถนาเบื้องลึกที่จะเป็นอิสระจากกฏเกณฑ์และความคาดหวังของผู้คนรอบตัว ไม่ต่างจากสัมพัทธ์ซึ่งก็ต้องการ “ที่ว่าง” ของตัวเองเช่นเดียวกัน สองแม่ลูกจึงเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างที่คนอื่นในครอบครัวไม่เข้าใจ

เมื่อสัมพัทธ์หนีไปอยู่บนต้นฝรั่งในสวน และพ่อของเขาเริ่มได้ความคิดที่จะทำเงินจากวิถีชีวิตแปลกประหลาดของลูกชาย ครอบครัวทั้งหมดจึงถูกดึงเข้าไปร่วมมือด้วย พวกเขาเริ่มปรับปรุงที่อยู่อาศัยบนต้นไม้ของสัมพัทธ์ให้มีความสะดวกสบายขึ้น และช่วยกันอาบน้ำให้สัมพัทธ์ ซึ่งจะเปรียบไปก็คล้ายกับพิธีกรรมศักดิ์สิทธิในการชำระล้างเพื่อความบริสุทธิ์ อันนำไปสู่บทบาทใหม่ในฐานะฤาษีของสัมพัทธ์ ในสวนฝรั่งนี้เองที่คัลฟี่ได้พบ “ที่ว่าง” ของตัวเองเช่นเดียวกับสัมพัทธ์ เธอไม่ต้องถูกจำกัดอยู่ในครัวอันคับแคบอีกต่อไป แต่อยู่ใต้ผืนฟ้า บนแผ่นดิน ท่ามกลางอากาศ ต้นไม้และสิงสาราสัตว์ต่างๆ ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจ เติมเต็มความฝันและจินตนาการเรื่องอาหารของเธอ ที่นี่มีทรัพยากรมากมายให้เธอได้เลือกมาเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารตามสารพันสูตรแปลกพิสดารที่เธอคิดขึ้นมา คัลฟี่จึงได้ก้าวออกมาจากความโดดเดี่ยวแปลกแยกและได้พบงานหรือบทบาทต่อครอบครัวซึ่งเธอมีความสุขที่จะทำเป็นครั้งแรก เธอภูมิใจในหน้าที่แม่ครัวประจำตัวสัมพัทธ์ ผู้เป็นคนเดียวซึ่งยอมกินอาหารที่เธอทำมาตั้งแต่อดีต โดยไม่ตัดสินหรือปรามาสความพิลึกพิสดารของส่วนผสมเหล่านั้น ขณะที่หน้าที่การทำอาหารเลี้ยงสมาชิกคนอื่นในครอบครัวยังเป็นของคุณนายอัมมาต่อไป

ที่มา : http://niceworldtour.com

ที่มา : http://niceworldtour.com

ทุกวันคัลฟี่เที่ยวดั้นด้นไปตามป่าเขา เพื่อเสาะแสวงหาเครื่องปรุงอาหารจานใหม่ของเธอสำหรับสัมพัทธ์ เธอเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ สมุนไพร เครื่องเทศสารพันชนิด ออกล่าสัตว์ต่างๆ ทุกชนิดเท่าที่ป่าจะมีให้เธอได้ ทั้งบนบก ในน้ำ หรือในอากาศ เธอตัด หั่น สับ วัตถุดิบต่างๆ ด้วยเรี่ยวแรงกำลังที่ไม่รู้มาจากไหน เธอทดลอง ออกแบบ ควบคุม กำกับ และลงมือทำครัวด้วยตัวเองทุกขั้นตอนราวกับศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ อาหารของเธอบางอย่างประกอบด้วยส่วนผสมนับร้อยชนิด หลายอย่างเป็นส่วนผสมที่ไม่เคยมีใครใช้ในอาหารมาก่อน สัดส่วนของเครื่องประกอบเหล่านั้นก็เป็นความคิดและจินตนาการของเธอเอง โดยไม่ได้ยึดติดอยู่กับแบบแผนการปรุงอาหารใดๆ ของใครทั้งสิ้น นี่เป็นวิธีที่เธอใช้ต่อต้านหรือขัดขืนจารีตอันเข้มงวดของสังคม เธอกลายเป็นนายเหนืออาหารของเธออย่างแท้จริง จุดนี้เองที่แตกต่างจากตีตา ตรงที่ตีตายังปรุงอาหารตามสูตรตายตัวที่เป็นผลจากขนบจารีต เพียงแต่เธอสามารถใช้ศิลปะในการปรับปรุง พลิกแพลงสูตรให้อาหารแต่ละจานมีเอกลักษณ์เป็นของเธอเองด้วย

“…เกิดความกลมกล่อมอันน่ากลัวภายในเครื่องเทศอันละเอียดอ่อนลึกล้ำ นับเป็นความสำเร็จแสนวิเศษของเครื่องปรุงรสร้อยสีพันอย่าง เช่น เมล็ดเพียงหนึ่งเม็ดของพืชชนิดหนึ่ง ดอกตูมเพียงดอกเดียวของพืชอีกประเภท หรือเครื่องปรุงจำนวนแค่แตะปลายนิ้วเปียกลงขวดแก้วเล็กๆ แผ่วเบา ก่อนแต้มในหม้อเดือดเป็นฟอง เครื่องปรุงจำนวนเท่าหนึ่งถ้วยตะไล เท่าหนึ่งกล่องไม้ขีด เท่าเปลือกมะพร้าวซึ่งใส่สีแดงเข้ม สีม่วงแก่ และเครื่องเทศผงเหลืองไว้เต็ม บางครั้งนางต้องใช้เวลาเคี่ยวส่วนผสมทั้งหมดหนึ่งหรือสองวัน ตั้งหม้อบนถ่านที่แผ่รังสีความร้อนอ่อนๆ หรือถ่านไฟแรงคุคำรามราวถ่านเผาเหล็กยามนางใช้พัดใบตาลเร่งไฟ เนื้อถูกเคี่ยวให้นิ่มก่อนปรุงรสด้วยเครื่องเทศจนหอมอบอวล ซอสจิ้มมีรสแปลก มีตะกอนสีคล้ำซึ่งฤทธิ์มันสามารถทำให้เราทรงตัวมั่นครู่หนึ่ง ก่อนล้มตึงในเวลาต่อมา ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่หลังกินต้องไขว่คว้าหาที่เกาะถึงครึ่งชั่วโมง อาหารบางอย่างสุดละเอียดอ่อน มีรสชาติหลอกหลอนยั่วเย้า ดั่งความทรงจำบางห้วงตอนที่เราเคยรู้จัก แต่ไม่กล้าแม้กระทั่งจะยื่นนิ้วเข้าไปสัมผัสมันอีก…”

(จากฉบับแปลเป็นภาษาไทย “ในสวนฝรั่ง” โดย เจนจิรา เสรีโยธิน)

อารมณ์ความรู้สึกและแรงบันดาลใจที่คัลฟี่ใส่ลงไปในอาหาร ได้ถ่ายทอดไปยังคนกินคือสัมพัทธ์ มันแทรกซึมเข้าไปในเลือดเนื้อของเขา ดังจะเห็นว่าเขามีสีหน้าที่เปล่งปลั่งสมบูรณ์ เหมือนคำกล่าวที่ว่า “You are what you eat” นี่เองที่ทำให้คัลฟี่สามารถทวงคืนอำนาจของเธอในฐานะมารดาผู้ทะนุบำรุงเลี้ยงดูรักษาได้เป็นผลสำเร็จ อาหารของคัลฟี่ยังส่งกลิ่นดึงดูดผู้คนที่มาสังเกตการณ์หรือสักการะบูชาสัมพัทธ์ ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกและแรงบันดาลใจที่คนเหล่านั้นไม่เคยรู้สึกมาก่อน เช่นเดียวกับเค้กแต่งงานซึ่งตีตาทำขึ้นด้วยความรวดร้าวอาดูร ก็ได้ทำให้แขกที่มาร่วมงานแต่งงานพี่สาวเธอรู้สึกโศกเศร้าโหยหาอย่างประหลาด จนเกิดความโกลาหลวุ่นวายขึ้นในงานเลี้ยงแต่งงาน หรือการที่นกกระทาอบซอสกลีบกุหลาบฝีมือตีตาทำให้เปโดรรู้สึกถึงแรงปรารถนาลึกซึ้งที่เธอมีต่อเขา ในที่นี้อาหารมิใช่แค่วัตถุนอกกาย แต่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับสภาวะจิตใจของคนปรุงและคนกิน วิธีที่คนปรุงอาหารและลิ้มรสอาหาร มักสะท้อนความปรารถนาที่แฝงเร้นในจิตใต้สำนึกของบุคคลผู้นั้น

ในนวนิยายทั้งสองเรื่อง การทำครัวเปรียบเสมือนพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ ซึ่งสื่อให้เห็นอัจฉริยภาพของตัวละคร การร้อยเรียงผสมผสานวัตถุดิบสารพันจากธรรมชาติราวกับเป็นวาทยกรผู้อำนวยเพลง ทำให้พวกเธอดูราวกำลังสวมวิญญาณของมารดาแห่งโลก ซึ่งเปี่ยมด้วยสัญชาตญาณตระหนักรู้ในทุกซอกมุมของแผ่นดิน ผืนฟ้า และสายน้ำ ทำหน้าที่ทำนุบำรุงหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน พื้นที่ในการปรุงอาหารยังกลายเป็นพื้นที่การต่อรองทางอำนาจของผู้หญิงกับจารีตประเพณีของสังคมที่ครอบงำเธออยู่ ผู้หญิงทั้งสองได้ต่อสู้เพื่อมิให้ตนเองตกอยู่ในฐานะผู้รองรับการกระทำอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นผู้กระทำ โดยใช้อำนาจนั้นผ่านทางอาหาร สะท้อนว่าพื้นที่ในครัวไม่ใช่พื้นที่ของผู้อ่อนแอหรือผู้ตามอยู่ข้างหลังอย่างที่คนทั่วไปมักรับรู้และเข้าใจกันอีกต่อไป แต่เป็นเครื่องมือแห่งอำนาจซึ่งเอื้อประโยชน์ในผู้หญิงได้แสดงบทบาทหน้าที่ของตนซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชุมชนได้เฉกเช่นเดียวกับผู้ชาย