ที่มา : http://www.candleco.co.uk

ได้ยินชื่อ “ซ่อนกลิ่น” แล้วก็ให้นึกถึงเสน่ห์ลึกล้ำของไม้ดอกชนิดนี้ ที่ซ่อนกลิ่นหอมเอาไว้อย่างมิดเม้นตลอดวัน ก่อนจะค่อยเผยกลิ่นรัญจวนใจออกมาในยามราตรี ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมแปลกพิเศษยิ่งกว่ามวลมาลีชนิดใดในโลก

ซ่อนกลิ่นเป็นชื่อเรียกดอกลาหรือชนิดกลีบชั้นเดียว ส่วนดอกซ้อนหรือชนิดกลีบสองชั้นนั้นคนไทยเรียกซ่อนชู้ อย่างที่กวีไทยเคยพรรณนาไว้ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนว่า “ซ่อนชู้ชูช่ออรชร เหมือนเราซ่อนเป็นชู้คู่แฉล้ม…” ดอกซ่อนกลิ่นและซ่อนชู้นี้มีคุณสมบัติพิเศษเช่นเดียวกับมะลิ คือเมื่อเด็ดออกจากต้นแล้ว แทนที่กลิ่นหอมจะจางหายไป กลับยังส่งกลิ่นขจรขจายต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าดอกจะโรยไป ส่วนรูปลักษณ์นั้นก็สวยบอบบางด้วยกลีบสีขาวราวน้ำนม บางพันธุ์เจือสีชมพูอ่อนๆ ตรงปลายกลีบ

แต่แม้จะ ‘สวยทั้งรูป จูบก็หอม’ ชนิดที่ “…เหมือนกลิ่นแก้มโฉมยงเมื่อส่งตัว…” ขนาดนี้ คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังมีอคติต่อดอกซ่อนกลิ่นอยู่มาก จนกลายเป็นของต้องห้ามชนิดที่ไม่ควรนำไปมอบให้กันไม่ว่าในโอกาสใดทั้งสิ้น มิฉะนั้นอาจถูกเข้าใจว่าหมายจะสาปแช่งกันเอาเลยทีเดียว เพราะคนโบราณนิยมใช้ดอกซ่อนกลิ่นในพิธีศพ ว่ากันว่าเป็นเพราะกลิ่นหอมแรงช่วยกลบกลิ่นเหม็นคลุ้งของศพได้ดี จึงเกิดความเชื่อสืบต่อกันมาว่าเป็นไม้อวมงคล จำได้ว่าญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งของผู้เขียนนั้นต่อต้านนักหนา เมื่อปรารภให้ฟังว่าอยากหาต้นซ่อนกลิ่นมาปลูกไว้ในบ้าน แสดงว่าแม้กาลเวลาล่วงเลยมานานเพียงใด ความคิดความเชื่อเก่าๆ บางอย่างก็ยังคงฝังในใจคนอย่างยากที่จะเปลี่ยนแปลง

แต่นอกจากจะมีชื่อเสียงว่าเป็นดอกไม้งานศพแล้ว คนไทยสมัยก่อนก็ยังใช้บูชาพระด้วยเช่นกัน เลยเดาเอาเองเล่นๆ ว่า คงเพราะเป็นดอกไม้สีขาวบริสุทธิ์และมีกลิ่นหอมแรงเช่นเดียวกับมะลิ จึงนิยมนำไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิที่ถือเป็นของสูง หรืออีกนัยหนึ่ง อาจเป็นการ ‘แก้เคล็ด’ คือนำไปบูชาพระเสีย แทนที่จะส่งเสริมค่านิยมการหลงใหลในกลิ่นอันเย้ายวน เพราะความหอมของซ่อนกลิ่นนั้น ‘อันตราย’ เสียจนมีเรื่องเล่าว่า พวกผู้ใหญ่ชาวอินเดียจะห้ามเด็กสาวแรกรุ่นเข้าไปใกล้ต้นซ่อนกลิ่นในยามวิกาล เพราะเชื่อว่ากลิ่นของมันจะพาให้อารมณ์เตลิดเปิดเปิง จนเกิดอาการใจแตกก่อนวัยอันควรเอาง่ายๆ ส่วนในไร่ดอกซ่อนกลิ่นนั้น ว่ากันว่าจะอนุญาตให้ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วเท่านั้นเป็นคนเก็บดอก เพราะกลัวว่าถ้าใช้สาวๆ วัยขบเผาะ ก็อาจจะทำให้หนุ่มคนงานในไร่พากันหูอื้อตาลาย อารมณ์ปั่นป่วนเพราะหลงเสน่ห์สาวน้อยและกลิ่นหอมของดอกไม้ชนิดนี้ จนไม่เป็นอันทำการทำงาน

วัฒนธรรมอินเดียนั้นยกย่องความงามและความหอมของซ่อนกลิ่นกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งดูจะตรงข้ามกับไทยมากทีเดียว ชาวอินเดียตะวันออกเรียกซ่อนกลิ่นว่า “รัชนิคันธะ” มาจากคำว่า “รัชนี” แปลว่ากลางคืน และ “คันธ” ซึ่งหมายถึงกลิ่นหอม  ส่วนทางภาคใต้ของอินเดียเรียกว่า “สุคนธราชา” หรือ ราชาแห่งกลิ่นหอม ในบางท้องที่ของอินเดียก็เรียกว่า “ชู้แห่งรัตติกาล” อีกด้วย จึงมักมีผู้นำไปสับสนกับดอกไม้อีกชนิดหนึ่งที่ส่งกลิ่นเย้ายวนในยามค่ำคืนเช่นเดียวกันอย่างดอก “ราตรี” ซึ่งคนไทยเราก็รู้จักกันดี

ตำราอายุรเวชของอินเดียถือว่าหัวน้ำมันดอกซ่อนกลิ่นมีค่ามาก เพราะเชื่อว่าให้กลิ่นหอมที่มีสรรพคุณเสริมสร้างพลังจิต สร้างแรงบันดาลใจทางศิลปะ กระตุ้นสมองซีกขวาที่ควบคุมความคิดสร้างสรรค์ และช่วยให้จิตใจสงบผ่อนคลาย

(ซ้าย) ดอกซ่อนกลิ่นในตลาดที่เมืองกัลกัตตาจะขายดีมากในช่วงที่ชาวอินเดียนิยมจัดงานแต่งงาน โดยนำไปร้อยเป็นมาลัยคล้องคอคู่บ่าวสาวหรือทำมงกุฎดอกไม้สำหรับเจ้าสาว จาก http://www.humanflowerproject.com/index.php/weblog/comments/tuberose_tiaras_for_brides_and_gods/ (ขวา) เจ้าสาวอินเดียใช้ดอกซ่อนกลิ่นแซมผม จากhttp://blog.michelleragoltd.com/destination-fridays-a-passage-to-india_232/

คู่บ่าวสาวชาวอินเดียจะแลกมาลัยซ่อนกลิ่นกันในพิธีแต่งงาน นอกจากนี้ก็ใช้ประดับตกแต่งรถและเตียงของบ่าวสาว ดอกซ่อนกลิ่นยังใช้ทำเครื่องประดับศีรษะสำหรับเจ้าสาวในภาคตะวันออกของอินเดียอีกด้วย ถือเป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญในพิธีแต่งงาน ว่ากันว่าในช่วงเดือนที่นิยมจัดงานกันนั้น ซ่อนกลิ่นจะเป็นที่ต้องการอย่างมากและราคาก็พุ่งสูงตามไปด้วย

ค่านิยมเกี่ยวกับดอกซ่อนกลิ่นของชนชาติอื่นๆ ในโลกก็ไม่ต่างจากอินเดียนัก ชาวอินโดนีเซียเรียกดอกซ่อนกลิ่นว่า “บุหงาซดัปมาลัม” หมายถึงดอกไม้ที่ส่งกลิ่นหอมยามค่ำคืน สวรรค์เมืองร้อนอีกแห่งของโลกอย่างเกาะฮาวายนั้นนิยมใช้ดอกซ่อนกลิ่นร้อยเป็นมาลัยสำหรับใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ชาวฮาวายโบราณจัดพิธีแต่งงานก็ต้องให้เจ้าสาวสวมมงกุฎดอกซ่อนกลิ่นและมะลิ ซึ่งประเพณีดังกล่าวก็ยังสืบทอดกันมาถึงทุกวันนี้ ซ่อนกลิ่นจึงถือเป็นสัญลักษณ์ของความโรแมนติคและเสน่ห์ของหญิงสาว

เรื่องอาถรรพ์ของซ่อนกลิ่นนั้นหากจะมีกล่าวถึงอยู่บ้างก็คงเป็นที่มาเลเซีย ซึ่งเรียกไม้หอมชนิดนี้ว่า “บุหงาซุนดัลมาลัม” มีความหมายทำนองเดียวกับชื่อที่เรียกในประเทศอื่นๆ ผู้เขียนนั้นไม่ได้มีความรู้เรื่องภาษามลายูอะไรนัก จึงอดขำไม่ได้เมื่อเห็นชาวมาเลย์คนหนึ่งมาโพสต์ความหมายของคำนี้ไว้ในเว็บไซต์ว่า ‘whore of the night’ เลยจะขอแปลให้ฟังรื่นหูหน่อยว่า ‘ชู้แห่งรัตติกาล’ ก็แล้วกัน ไม่นานมานี้มีหนังสยองขวัญของมาเลเซียชื่อว่า “ปุนตียานะก์ ฮารุม ซุนดัลมาลัม” ปุนตียานะก์นี้เป็นชื่อเรียกผีในตำนานพื้นบ้านของมาเลเซีย เป็นหญิงสาวที่ตายขณะคลอดลูกแล้วกลายเป็นผีดิบ คนในแถบหมู่เกาะมลายูอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ต่างรู้จักกันดี ทำนองเดียวกับแดร็กคูล่าของฝรั่งหรือแม่นาคของไทยเรา หนังเรื่องนี้เล่าถึงผีสาวที่ออกไล่ล่าเอาชีวิตคนที่เคยฆ่าเธอด้วยแรงอาฆาตแค้น ผีสาวหลงใหลดอกซ่อนกลิ่นมาก จึงให้ชื่อหนังว่า ฮารุม ซุนดัลมาลัม แปลว่า กลิ่นหอมดอกซ่อนกลิ่นนั่นเอง

Pontianak Harum Sundal Malam

โปสเตอร์และฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง “ปุนตียานะก์ ฮารุม ซุนดัลมาลัม” ที่มา : http://www.cinemedioevo.net

ซ่อนกลิ่นเป็นไม้หัวในวงศ์ Agavaceae หัวซ่อนกลิ่นนี้เมื่อนำไปปลูกจะแตกออกเป็นกอ ใบสีเขียวสดยาวเรียว ออกดอกเป็นช่อ ก้านช่อแข็งแรงตั้งตรงขึ้นเหนือพุ่มใบสูงได้ราว 2-3 ฟุต ดอกสีขาวมักเริ่มบานจากโคนช่อขึ้นสู่ยอดตามลำดับ

ชื่อพฤกษศาสตร์ Polianthes tuberosa มาจากคำกรีก “polios” แปลว่าสีเทาหรือสีออกขาว และ “anthos” หมายถึงดอกไม้ ส่วนคำว่า “tuberosa” นั้นเป็นภาษาละติน แปลว่า โป่งพองหรือนูน หรืออาจหมายถึงพืชที่มีหัวอยู่ใต้ดินก็ได้ ซ่อนกลิ่นพันธุ์ที่รู้จักแพร่หลายที่สุดในโลกคือ “Single Mexican” หรือชนิดดอกลาที่มีกลีบชั้นเดียวนั่นเอง ส่วนชนิดดอกซ้อนนั้นมีชื่อพันธุ์ว่า “Double Pearl” เพราะดอกมีกลีบเรียงซ้อนกันสองชั้นสวยงาม จึงนิยมนำไปใช้จัดดอกไม้สำหรับประดับตกแต่งสถานที่หรือใช้ในงานพิธีต่างๆ แต่กลิ่นไม่หอมแรงเท่าซ่อนกลิ่นดอกลา ซึ่งนิยมนำไปสกัดน้ำหอมมากกว่า ซ่อนกลิ่นพันธุ์ผสมจากอินเดียก็เป็นที่นิยมอยู่หลายพันธุ์ด้วยกัน เช่นพันธุ์ “รชตเรขา” เป็นชนิดดอกลา มีแถบสีขาวตรงกลางใบ และพันธุ์ “สุวรรณเรขา” เป็นชนิดดอกซ้อน มีแถบสีเหลืองตรงขอบใบ คำว่า “รชตะ” แปลว่า เงิน ส่วน “สุวรรณ” แปลว่า ทอง ซึ่งก็สะท้อนลักษณะเด่นของซ่อนกลิ่นทั้งสองชนิดได้เป็นอย่างดี

ซ่อนกลิ่นเจริญเติบโตได้ดีในเขตภูมิอากาศร้อน จะออกดอกสะพรั่งสวยงามหากได้รับแสงแดดเต็มที่ จึงเป็นดอกไม้อีกชนิดหนึ่งที่รู้จักกันดีว่าเป็นสัญลักษณ์ของโลกตะวันออก ซ่อนกลิ่นนี้มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง ต่อมามีผู้นำไปปลูกในฟิลิปปินส์และอีสต์อินดีส์ ส่วนในยุโรปนั้น Simon de Tovar แพทย์ชาวสเปนได้นำเข้าต้นพันธุ์จากศรีลังกาในปี ค.ศ. 1594 จากนั้นจึงมีการปลูกแพร่หลายในฝรั่งเศสและอิตาลี เล่ากันว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสได้สั่งซ่อนกลิ่นจำนวนมากถึง 10,000 ต้นไปปลูกที่ตำหนักกรองด์ ตริอานง

ส่วนในบ้านเรานั้น หนังสือ “ตำนานไม้ต่างประเทศบางชนิดในเมืองไทย” ของพระยาวินิจวนันดร กล่าวไว้ว่าดอกซ่อนกลิ่นนี้มีในประเทศไทยมากว่า 200 ปีแล้ว หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2483 หากนับย้อนไปอีกราว 200 ปี ก็อยู่ในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยานั่นเอง แต่จะเข้ามาอย่างไรนั้นไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าชาวจีนน่าจะนำเข้ามา เพราะชาวจีนมักใช้ดอกซ่อนกลิ่นปักแจกันบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ หรือตากแห้งใส่แกงจืดรับประทาน และว่าชาวจีนน่าจะได้รับพันธุ์จากฟิลิปปินส์อีกต่อหนึ่ง เพราะติดต่อค้าขายกันมาช้านานแล้ว ส่วนหนังสือ “ปทานุกรมพรรณไม้ในตำนานเมือง” ของคุณสังข์ พัธโนทัย ก็สันนิษฐานว่าชาวฝรั่งเศสน่าจะนำเข้ามาปลูกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยอ้างคำกล่าวของบาทหลวงนิโกลาส์ แชร์แวส ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” ว่า ดอกซ่อนกลิ่นที่ปลูกในกรุงศรีอยุธยานี้มีกลิ่นหอมเย็นกว่าที่ปลูกในฝรั่งเศสมาก

สวนสวยด้วยดอกไม้สีขาวล้วนสไตล์ moon garden ดูงามละมุนตา ที่มา : http://www.hollywoodsandvines.com

ดอกซ่อนกลิ่นนี้หลังจากถูกนำเข้าไปปลูกในยุโรปแล้ว ก็กลายเป็นที่นิยมใช้ประดับสวนดอกไม้ซึ่งเรียกกันว่า “moon garden” สวนสไตล์นี้จะมีแต่ไม้ดอกโทนสีขาวล้วนหรือสีพาสเทลอ่อนหวาน ที่มักแย้มกลีบและส่งกลิ่นหอมกรุ่นกำจายในช่วงหลังพระอาทิตย์ตกดินเท่านั้น จะไม่ใช้ดอกไม้สีสันสดใสจัดจ้านเอาเสียเลย เพราะส่วนใหญ่มักไร้กลิ่นหอมจรุงใจ ว่ากันว่าเป็นรูปแบบการแต่งสวนที่ฮ็อตฮิตในหมู่สาวๆ ยุควิคตอเรียนของอังกฤษ ซึ่งนิยมความงามอ่อนหวานละมุนละไมมากกว่าความฉูดฉาดบาดตา แต่ต่อมาความนิยมปลูกดอกซ่อนกลิ่นประดับบ้านก็ลดน้อยลง เพราะมีผู้นำไปใช้ในพิธีศพกันอย่างแพร่หลาย จะเห็นว่าฝรั่งสมัยนั้นก็เชื่อถือเรื่องโชคลางไม่น้อยไปกว่าคนไทยเหมือนกัน

แต่กระนั้น ฝรั่งตะวันตกก็ยังถือว่าซ่อนกลิ่นเป็นดอกไม้สำคัญอีกชนิดในอุตสาหกรรมเครื่องหอม ที่เมือง กราสส์ของฝรั่งเศสซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจน้ำหอมโลกและที่อิตาลีก็เคยมีการปลูกซ่อนกลิ่นจำนวนมากเพื่อสกัดน้ำหอม แต่ต้นทุนการผลิตที่สูงมากในปัจจุบัน ทำให้มีการนำเข้าหัวน้ำมันซ่อนกลิ่นจากแหล่งใหญ่อย่างโมร็อคโค อินเดีย จีน หมู่เกาะโคโมโร ฮาวาย และแอฟริกาใต้แทน

ไร่ดอกซ่อนกลิ่นที่ปลูกเพื่อสกัดน้ำหอม ที่มา: http://www.biolandes.com

หัวน้ำมันสกัดจากซ่อนกลิ่นแท้นั้นมีราคาสูงมาก เพราะกลีบดอกไม่สามารถทนความร้อนในกระบวนการกลั่นซึ่งใช้ไอน้ำเป็นตัวแยกน้ำมันหอมระเหยออกจากกลีบดอกได้ จึงต้องใช้กรรมวิธีที่สืบทอดมาแต่โบราณ เรียกว่า enfleurage หรือการสกัดด้วยไขมันเย็น โดยวางกลีบดอกลงบนไขมันสัตว์ ทิ้งไว้กระทั่งกลิ่นหอมของซ่อนกลิ่นละลายออกมาในไขมัน และต้องเปลี่ยนกลีบดอกใหม่ทุก 2 วัน ไขมันที่ชุ่มกลิ่นนี้จะถูกนำไปแช่แอลกอฮอล์เพื่อแยกเอาเฉพาะกลิ่นหอมออกมา และเมื่อระเหยเอาแอลกอฮอล์ออกแล้วก็จะได้หัวน้ำมันซ่อนกลิ่นบริสุทธิ์ กว่าจะได้หัวน้ำมันสัก 1 กิโลกรัม ต้องใช้ดอกซ่อนกลิ่นมากถึง 3,600 กิโลกรัมเลยทีเดียว อีกกรรมวิธีซึ่งเป็นที่นิยมคือ solvent extraction หรือการสกัดด้วยตัวทำละลาย ทั้งสองวิธีนั้นล้วนแต่ต้องอาศัยเวลาและต้นทุนสูง ผู้ผลิตน้ำหอมในปัจจุบันจึงมักใช้หัวน้ำมันซ่อนกลิ่นแท้ในปริมาณน้อย ที่เหลือก็อาจเติมแต่งกลิ่นสังเคราะห์ หรือใช้หัวน้ำมันดอกไม้หรือสมุนไพรชนิดอื่นผสมกันในสัดส่วนที่พอเหมาะเพื่อให้ได้ความหอมใกล้เคียงกับซ่อนกลิ่น

ชาวตะวันตกนั้นนิยมยกย่องกลิ่นหอมดอกซ่อนกลิ่นว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความเย้ายวน น้ำหอมใดที่ใช้ซ่อนกลิ่นเป็นส่วนผสมหลัก ก็มักใช้พรีเซ็นเตอร์สาวงามที่โชว์เสน่ห์ชวนหลงใหล ดอกมะลิที่หอมแรงเหมือนกันยังแพ้ซ่อนกลิ่นในเรื่องกลิ่นที่เข้มข้นและความเป็นตะวันออก กลิ่นของดอกไม้ชนิดนี้มักทำให้ผู้เขียนนึกถึงความหอมแรงของดอกไม้เมืองร้อนเจือกลิ่นครีมหรือน้ำผึ้งเล็กน้อย กลายเป็นกลิ่นหวานอบอุ่นซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่แปลกพิเศษกว่าดอกไม้อื่นๆ

น้ำหอมซึ่งขึ้นชื่อว่าใช้หัวน้ำมันซ่อนกลิ่นแท้เป็นปริมาณมากที่สุดในโลก ก็คือกลิ่น Carnal Flower ของ Frederic Malle แบรนด์ระดับ exclusive จากฝรั่งเศส หนุ่มหนึ่งในเว็บบอร์ดถึงกับกล่าวว่า ยินดีจะแต่งงานกับสาวใดก็ได้ที่มีกลิ่นตัวหอมรัญจวนเหมือน Carnal Flower ขวดนี้ ผู้เขียนว่าเป็นกลิ่นที่ชวนให้จินตนาการถึงผู้หญิงจากชนเผ่าในป่าอะแมซอน เพราะกลิ่นที่สัมผัสจมูกครั้งแรกเป็นกลิ่นใบไม้เขียวขจี ทำให้นึกถึงความเขียวชอุ่มลึกล้ำของป่าดิบชื้น ก่อนจะเผยกลิ่นหวานอบอุ่นของดอกไม้อย่างซ่อนกลิ่น กระดังงา และดอกส้ม เจือกลิ่นผลไม้หวานอย่างเมลอนและมะพร้าว

นางแบบ Daria Werbowy ใน Vogue เดือนมีนาคม 2010

ทางสุคนธบำบัดหรือ aromatherapy เชื่อว่ากลิ่นหอมของซ่อนกลิ่นเหมาะสำหรับผู้ที่เคร่งเครียดหรือ จำกัดตัวเองอยู่ในกรอบมากเกินไป จนมักปฏิเสธความรื่นรมย์หรือความหรูหราฟุ่มเฟือยซึ่งเป็นรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ให้กับชีวิต กลิ่นหอมของดอกซ่อนกลิ่นที่สื่อถึงความงามประณีต ความเย้ายวน และความหรูหรา จะช่วยเพิ่มแรงกระตุ้นในการใช้ชีวิตอย่างสุนทรีย์

ดอกซ่อนกลิ่นนี้ส่งกลิ่นขจรขจายในยามราตรี ก็เพื่อดึงดูดผีเสื้อกลางคืนให้มาผสมเกสรเพื่อขยายพันธุ์นั่นเอง เป็นที่น่าสังเกตว่า ดอกไม้เมืองร้อนส่วนใหญ่จะไม่มีสีสันสดใสจัดจ้านเหมือนในเมืองหนาว แต่มีดีที่กลิ่นหอมตราตรึงใจ เป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่สร้างสมดุลให้ดอกไม้ ชนิดที่สีสันสวยสะดุดตาก็มักไร้กลิ่นหอม จึงต้องใช้สีเป็นเครื่องล่อแมลง ส่วนชนิดที่ไร้สี ก็ต้องใช้กลิ่นแทน ผู้เขียนนั้นตกหลุมรักดอกไม้เมืองร้อนมากกว่าดอกไม้เมืองฝรั่ง เพราะถูกใจรูปลักษณ์ที่บอบบางกระจุ๋มกระจิ๋ม ส่วนใหญ่สีออกขาวบริสุทธิ์ไปจนถึงเหลือง ทว่ามีกลิ่นหอมพิเศษยิ่งนัก เหมือนคนที่แม้รูปลักษณ์ภายนอกอาจดูไม่โดดเด่น แต่มีความดีงามเป็นเครื่องเชิดชูตน ย่อมเลิศกว่าคนที่สวยแต่รูปจูบไม่หอมเป็นไหนๆ

บางคนบอกว่าซ่อนกลิ่นเป็นดอกไม้ประเภท ‘love or hate’ หมายความว่า ใครที่ชอบกลิ่นนี้ ก็จะหลงใหลเอามาก ส่วนใครที่ไม่ชอบก็ถึงขั้นทนไม่ได้เอาเลยทีเดียว ลองจินตนาการเล่นๆ ถึงหญิงสาวที่เซ็กซี่เย้ายวน ใครที่หลงใหลเธอก็ถึงขั้นโงหัวไม่ขึ้น แต่เธอก็อาจเป็นที่ ‘น่าหมั่นไส้’ หรือขัดหูขัดตาเอาได้ง่ายๆ สำหรับบางคน ดอกซ่อนกลิ่นก็ไม่ต่างกัน

Fracas

น้ำหอม Fracas หนึ่งในกลิ่นอมตะซึ่งเป็นที่โปรดปรานของเหล่าคนดังระดับโลก เช่น Madonna, Kim Basinger, Martha Stewart และ Courtney Love ที่มา : http://www.mimifroufrou.com

มีเรื่องเล่าสนุกๆ จากสาวฝรั่งคนหนึ่งในเว็บบอร์ด ว่าวันหนึ่งเธอได้ประพรมน้ำหอม Fracas ของ Robert Piquet ซึ่งถือเป็นหนึ่งในน้ำหอมกลิ่นแรกๆ ของโลกที่ใช้ซ่อนกลิ่นเป็นส่วนผสมหลัก เมื่อเข้าไปซื้อเครื่องดื่มในร้านแห่งหนึ่ง ก็พบว่าพนักงาน 2-3 คนในที่นั้นหันไปสบตากันและหัวเราะคิกคักเมื่อได้กลิ่นน้ำหอมของเธอเข้า ซึ่งถือเป็นการ ‘สบประมาท’ กันเลยทีเดียว เจ้าตัวเธอยืนยันว่าประพรมแต่เพียงน้อยนิดเท่านั้น แต่อนิจจากลิ่นนั้นฟุ้งแรงเสียจนบางคนทนไม่ได้ ก็ถือเป็นบทเรียนในการเลือกประพรมเครื่องหอมไปในที่สาธารณะ ถ้าไม่อยากให้กลิ่นกายของเราไปรบกวนผู้อื่นเข้า ก็ควรเลือกกลิ่นอ่อนๆ ประเภทปลอดภัยไว้ก่อน ส่วนกลิ่นที่น่าจะเฉียวฉุนรุนแรงเกินไปสำหรับคนทั่วไปที่มักจมูกไวต่อน้ำหอม อย่างเช่นกลิ่นดอกซ่อนกลิ่นนี้ ก็น่าจะเก็บเอาไว้ใช้ยามอยู่คนเดียวหรืออยู่ในกลุ่มคนรสนิยมเดียวกันดีกว่า จะได้ไม่ต้องเสียความมั่นใจไปเปล่าๆ

*ผู้ที่ต้องการนำบางส่วนของบทความไปเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์ชนิดต่างๆ กรุณาระบุที่มาของข้อมูลด้วย…ขอบคุณค่ะ

น้ำหอมกลิ่นดอกซ่อนกลิ่นหรือที่ใช้ซ่อนกลิ่นเป็นส่วนผสม

mass market/counter brands : Velvet Tuberose by Bath & Body Works, Michael Kors และ Very Michael Kors by Michael Kors, Flowerbomb by Viktor & Rolf, Fragile by Jean Paul Gaultier, Mahora และ Jardins de Bagatelle by Guerlain, Blonde by Versace, Chloe (original version) by Chloe, Carolina Herrera by Carolina Herrera, Boucheron Femme by Boucheron, Poême by Lancôme, Amarige by Givenchy, Escada pour Femme by Escada, Gianfranco Ferre by Gianfranco Ferre, Red Door by Elizabeth Arden, White Diamonds by Elizabeth Taylor

niche/exclusive brands : Fracas by Robert Piquet, Carnal Flower by Frederic Malle, Tubereuse by Caron, Tubereuse Criminelle by Serge Lutens, Tubereuse Indiana by Creed, Tubereuse และ La chasse aux Papillons by L’Artisan Parfumeur, Tubereuse by Maitre Parfumeur et Gantier, Tubereuse by Annick Goutal, Mayotte by Guerlain, Noix de Tubereuse by Miller Harris, Tubereuse Couture by Parfumerie Generale, Eclair de Tubereuse by IL PROFUMO, White Tuberose by Anthousa, Blu by Bruno Acampora, Do Son by Diptyque, Beyond Love by By Kilian, Tubereuse 40 (New York) by Le Labo, Tuberosa by Profumum, Tiptoeing through Chambers of the Moon by Pilar and Lucy, Nasomatto by Narcotic Venus, Tuberose by Renee, Tuberosa d’Autonno by i Profumi di Firenze, Tuberose Gardenia by Estee Lauder Private Collection,  Viva และ Tuberose Diabolique by Ava Luxe, Carolina by Mazzolari, Osa by Laura Tonatto, Tuberose by Jo Malone, La Roue de La Fortune 10 และ La Lune 18 by Dolce & Gabbana Fragrance Anthology, Tubereuse Parfum – No. 6 by Prada, Cepes and Tuberose by Aftelier, A Travers Le Miroir by Thierry Mugler, Galatea by Strange Invisible Perfumes, Fleur Sauvage by Tsi~La, Tuberosa by Fresh, Spiced Tuberose & Orchid by Potter & Moore, Tuberosa by Antica Farmacista, Perfect Tuberose by Creative Scentualization, Tubereuse by Creation Mathias, Mea Culpa by Les Parfums de Rosine, Tubereuse by Dawn Spencer Hurwitz, Heavenly Ginger Lily by Molton Brown, Number One by Parfums de Nicolai, Cleopatra by Tocca, The Sands of Aqaba by Aqaba, Enlevement au Serail by Parfums MDCI, Shalini by Shalini, Amoureuse by Parfums Delrae, Possessive by Yvona K., White Flowers 1.41 และ Omniscent 0.96 by Yosh, Bolt of Lightning by Jar, Exotic Floral by Filles des Iles