“…เจ้าโชยกลิ่น ต่อเมื่อสิ้น แสงอาทิตย์
เหมือนให้คิด ปริศนา ราตรีเอ๋ย
คิดคำนึง ถึงราตรี ที่เราเคย
ได้ชมเชย ชื่นชวน รัญจวนใจ

พอสิ้นคืน คืนสิ้น กลิ่นเสาวรส
ความช้อยชด สดชื่น คืนไปไหน
ทิ้งแต่รอย รัญจวน ป่วนฤทัย
ฝากเอาไว้ กับราตรี ไม่มีเลือน…”

ช่อดอกราตรีสีขาวคล้ายดวงดาวส่องแสงออกมาจากความมืดมิดยามราตรี จาก http://www.tripleoaks.com

ดอกราตรี หรือที่ชาวเหนือเรียกว่า ดอกหอมดึก นี้ มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Cestrum nocturnum คำว่า cestrum นี้มาจากคำกรีก kestron แปลว่า ปลายแหลม ซึ่งก็คงตั้งใจจะให้สะท้อนรูปลักษณ์ของดอกราตรีที่โคนดอกเป็นหลอดยาวเรียว ส่วนคำว่า nocturnum ก็หมายถึงสิ่งที่เกี่ยวกับกลางคืนนั่นเอง ราตรีเป็นไม้ในวงศ์ Solanaceae วงศ์เดียวกับไม้ดอกหอมรัญจวนใจหลายชนิด อาทิ ลำโพง ทิวาราตรี พุดสามสี  พุดตะแคง ดอกราตรีนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาฝรั่งได้หลายอย่าง เช่น night-blooming Cestrum, lady of the night, queen of the night ซึ่งก็แปลออกมาได้อย่างเพราะพริ้งว่า “ราชินีแห่งรัตติกาล”

ดอกราตรีนี้ในยามกลางวันจะส่งกลิ่นอ่อนมากๆ ถ้าไม่เข้าไปดมใกล้ๆ ชนิดแนบจมูกเข้ากับกลีบดอก ก็แทบจะไม่รู้สึกถึงกลิ่นหอม แต่เมื่อพระอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้าไปแล้ว จะเริ่มส่งกลิ่นเฉียวฉุนรุนแรงที่มีฤทธิ์สะกดจิตใจให้เคลิบเคลิ้มใหลหลง ใครที่ ‘เซ้นซิทีฟ’ ต่อกลิ่นนี้ อาจถึงขั้นสลบไสลไปเลยก็ได้ หากสูดดมเข้าไปมากๆ

ราตรีมีถิ่นกำเนิดในแถบเวสต์อินดีส์ และเติบโตแพร่พันธุ์ในเขตร้อนทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย มณฑลทางใต้ของจีน อย่าง ฟูเจี้ยน, กวางตุ้ง, กวางสี, ยูนนาน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทางใต้ของอเมริกา นิยมปลูกเป็นไม้ประดับเอาไว้สูดกลิ่นหอม แต่ก็แพร่พันธุ์เร็วมากจนบางรัฐในอเมริกาถือว่าเป็นพืชรุกรานที่ต้องทำลายทิ้ง

หนังสือ “ตำนานไม้ต่างประเทศบางชนิดในเมืองไทย” ของพระยาวินิจวนันดร กล่าวว่า ต้นราตรีนี้มีผู้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเกือบ 60 ปี มาแล้ว หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2483 หากนับย้อนหลังไป 60 ปี ก็เท่ากับราวปี พ.ศ. 2423 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง ต้นราตรีนี้ไม่ทราบว่ามาจากไหนและใครเป็นผู้นำเข้ามา แต่เล่ากันว่า ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็นผู้แจกจ่ายพันธุ์ให้ปลูกกันในกรุงเทพมหานคร จึงสันนิษฐานว่า เจ้าพระยาภาสกรวงศ์น่าจะเป็นคนแรกที่นำต้นราตรีเข้ามาในบ้านเรา

ต้นราตรีนี้ขนาดไม่ใหญ่นัก ลำต้นเป็นพุ่มสูงได้ราว 4 เมตร ใบเล็กรูปรีปลายแหลม สีเขียวเข้มเป็นมัน  ออกดอกรวมกันเป็นช่อ ดอกสีขาวปนเขียว โคนดอกเป็นหลอดยาว ปลายบานออกเป็น 5 แฉกคล้ายดวงดาว ยิ่งเมื่อสะท้อนแสงจันทร์สีนวลแล้วดูพราวระยับไปทั้งต้น ตัดกับความมืดมิดในยามราตรี

ราตรีนี้ไม่ต่างจากไม้ร่วมวงศ์อย่างลำโพงหรือแตรนางฟ้า ตรงที่เป็นไม้งามดอกหอมแต่แฝงพิษอันตราย ทุกส่วนของต้นมีสารอัลคาลอยด์ซึ่งหากเข้าสู่ร่างกายมากๆ จะทำให้เกิดอาการปากแห้ง กลืนอาหารลำบาก เสียงแหบ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ปัสสาวะขัด อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น สังเกตได้จากผิวหนังแห้งกร้านและมีผื่นแดง รูม่านตาขยาย มองเห็นภาพไม่ชัด กระสับกระส่าย เพ้อคลั่ง ปวดศีรษะ เป็นไข้ ความจำสับสน กรณีที่ได้รับพิษมาก อาจชักรุนแรงและถึงขั้นโคม่าได้ ต้องรีบส่งตัวคนไข้ให้แพทย์รักษาอาการโดยเร็ว

และอย่างที่บอกไปแล้วว่ากลิ่นดอกราตรีนี้สามารถน็อคคนให้สลบได้ง่ายๆ โดยเฉพาะคนที่แพ้กลิ่นนี้ จะมีอาการหายใจขัด ระคายเคืองในจมูกและลำคอ จาม ปวดศีรษะอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน รวมถึงโรคทางเดินหายใจอื่นๆ จึงควรหลีกให้ห่างจากต้นราตรี ไม่ควรเข้าไปสูดดมใกล้ๆ

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นไม้มีพิษ แต่ก็มีข้อมูลว่าชนเผ่า Mazatec ทางใต้ของเม็กซิโกใช้ใบราตรีผสมพริกและน้ำส้มสายชูรับประทานแกล้มกับอาหารอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะใช้ในปริมาณน้อย เพื่อชูรสหรือเสริมความเผ็ดร้อนของพริก จึงไม่ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อร่างกาย

ดอกราตรีนี้ภาษาตากาล็อกของฟิลิปปินส์เรียกว่า dama de noche เช่นเดียวกับชาวสเปน ซึ่งเรียกว่า galan de noche ด้วยเช่นกัน แปลได้ความว่า ‘lady of the night’ และ ‘handsome beau of the night’ ซึ่งก็ให้ความหมายในทำนองเดียวกับชื่อเรียกในภาษาอื่นๆ การแพทย์แผนโบราณของฟิลิปปินส์ใช้ใบราตรีแก้อาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและโรคลมชัก ส่วนผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ก็พบว่าใบราตรีมีสารต้านเซลล์มะเร็งช่องปาก การทดลองใช้สารสกัดจากใบราตรีกับหนูแกสบี้ ยังพบว่ามีฤทธิ์ควบคุมจังหวะการบีบตัวของหัวใจห้องบนขวาของหนูชนิดนี้ให้เป็นปกติอีกด้วย

นักวิจัยจากสถาบันประสาทวิทยาและศัลยกรรมระบบประสาทในกรุงฮาวานา ประเทศคิวบา ทำการศึกษาสรรพคุณของน้ำต้มใบราตรีแห้ง จากการทดลองกับหนูพบว่าน้ำใบราตรีชนิดความเข้มข้นต่ำมีฤทธิ์บรรเทาอาการกระสับกระส่ายและอาการลมชักในหนูที่ได้รับยาปฏิชีวนะเพนนิซิลลิน ส่วนชนิดความเข้มข้นสูงช่วยลดอาการเซื่องซึมหรือไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าใดๆ น้ำใบราตรีทั้งสองชนิดยังช่วยบรรเทาอาการข้างเคียงจากการได้รับสารเสพติดชนิดแอมเฟตามีนและลดอาการชักกระตุกด้วยความเจ็บปวดของหนูที่ได้รับกรดอะซีติค จึงได้ข้อสรุปว่าใบราตรีนี้มีสารสำคัญบางชนิดที่มีสรรพคุณบรรเทาปวดและออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ในลักษณะที่ยังไม่เคยพบมาก่อนในตัวยารักษาโรคทางระบบประสาทซึ่งเป็นที่รู้จักและใช้อ้างอิงกันในปัจจุบัน

ได้กลิ่นราตรีที่โชยวูบมากับสายลมยามวิกาลแล้ว หูก็พลอยแว่วท่วงทำนองหวานเศร้าของเพลง “กลิ่นราตรี” ที่ประพันธ์คำร้องโดยคุณทรง สาลิตุล และแต่งทำนองโดยครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นเพลงที่ขึ้นชื่อว่ามีลีลาซับซ้อนแพรวพราวด้วยลูกเอื้อนและโทนเสียงสูง-ต่ำขัดแย้งกันตลอดทั้งเพลง ถือว่าร้องยากที่สุดอีกเพลงหนึ่งของวงสุนทราภรณ์

“…มาคืนนี้ กลิ่นราตรี ที่ไหนหนอ
ลอยมาล่อ ล้อให้ ใจคอหาย
อกระทึก นึกประหวั่น ครั่นใจกาย
หรือราตรี ที่หมาย ชายกลิ่นมา

เพื่อทวนถาม ความใน ให้ประจักษ์
เหมือนถามทัก ทวนเล่ห์ เสน่หา
โอ้ราตรี ที่เคยชื่น รื่นอุรา
ลอยทวนมา หรืออย่างไร ใคร่รู้เอย”

นางแบบ Isbeli Fontana ช่างภาพ Greg Kadel จาก Vogue Spain ฉบับเดือน พ.ค. 2011

ผู้เขียนเคยได้ยินเรื่องเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ทางภาคเหนือว่า สมัยก่อนใครเข้าไปนั่งรับลมในสวนตอนค่ำ แล้วได้กลิ่นหอมโชยมา ก็ให้เกิดอาการขนลุกเกรียว นึกเสียวสันหลังว่าอาจมีวิญญาณหญิงสาวมาวนเวียนอยู่ใกล้ๆ เพราะกลิ่นนั้นสะกดใจให้เคลิบเคลิ้มเหมือนไม่ใช่กลิ่นดอกไม้ธรรมดา ต้องขอยืนยันว่ากลิ่นราตรีนั้นโชยไปได้ในระยะไกลมาก ต้นราตรีที่เพื่อนบ้านปลูกไว้ มักหอมฟุ้งตลบเข้ามาถึงในบ้านผู้เขียน จนบางครั้งนึกสงสัยอยู่นานว่ากลิ่นมาจากที่ใด ดอกราตรีนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของถิ่นร้อน เช่นเดียวกับมะลิ พุดซ้อน ซ่อนกลิ่น และลั่นทม นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่เดินทางไปยังประเทศแถบเอเชียหรือหมู่เกาะต่างๆ มักจะประทับใจกับกลิ่นหอมดอกราตรีที่เข้ากับบรรยากาศโรแมนติคในค่ำคืนฤดูร้อนเป็นอย่างดี

ในอินเดียมีการสกัดหัวน้ำมันดอกราตรี หรือ Cestrum nocturnum absolute และมีการผลิตน้ำมันหอมกลิ่นราตรี เรียกว่า Raat ki Rani attar ซึ่งเติมหัวน้ำมันไม้จันทน์ลงไปด้วย เพื่อให้มีกลิ่นหอมทน ไม่ระเหยง่าย น้ำมันหอมนี้มีกลิ่นหวานเข้มข้น มักใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมชั้นสูง เชื่อว่าดอกราตรีสื่อถึงความผูกพันทางจิตวิญญาณ มิใช่ความสัมพันธ์ทางกาย ทั้งยังสื่อถึงความมั่งคั่งร่ำรวยด้วย นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าการนำดอกราตรีวางไว้ในห้องนอนหรือเผาบุหงาที่ทำจากดอกราตรีให้กลิ่นอบอวลในห้อง จะช่วยให้หลับลึกและเกิดความฝันบอกเหตุ ที่สามารถพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคตได้ ชาวอินเดียจึงมักใช้ดอกราตรีในพิธีกรรมทางศาสนาหรือการบูชาเทพเจ้าด้วย

กลิ่นราตรีนี้มีเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์เพราะประกอบด้วยสารหอมกว่า 130 ชนิด เช่น linalool ซึ่งเป็นกลิ่นสดชื่นที่พบในดอกไม้หอมหลายชนิด เช่น มะลิ กุหลาบ ลั่นทม กระดังงา ฯลฯ  benzaldehyde พบในเมล็ดอัลมอนด์, phenylacetaldehyde มีกลิ่นหวานสดชื่นคล้ายดอกกุหลาบ, eugenol พบในกานพลู, จันทน์เทศ และอบเชย ให้กลิ่นซาบซ่านร้อนแรงแบบเครื่องเทศ รวมทั้ง benzyl alcohol, cis-jasmone, benzyl acetate และ methyl jasmonate ซึ่งทั้งหมดพบในดอกมะลิ หลายคนจึงอาจเคยรู้สึกว่าดอกราตรีนี้มีกลิ่นคล้ายมะลิอยู่บ้างเหมือนกัน เพียงแต่เมื่อรวมเอากลิ่นสารหอมอย่างอื่นเข้าไปด้วย ก็ทำให้ดอกราตรีมีกลิ่นหอมฉุนรุนแรงกว่ามะลิอยู่มาก

เทียนหอมกลิ่นราตรี จาก Whitehall Candle Company

ร้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือสปาของไทยเราเดี๋ยวนี้ก็หันมาผลิตน้ำหอมกลิ่นดอกไม้ในวรรณคดีหรือดอกไม้ ‘ไทยๆ’ กันมาก กลิ่นราตรีก็ถือเป็นหนึ่งในกลิ่นดอกไม้หอมที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันยังมีผู้คิดค้นสินค้าใหม่ๆ อย่างน้ำหอมแห้งหรือเกล็ดหอมปรับอากาศกลิ่นดอกราตรีอีกด้วย แม้แต่เครื่องหอมไทยโบราณอย่างน้ำอบ น้ำปรุง เดี๋ยวนี้ก็มีการดัดแปลงสูตรด้วยการผสมกลิ่นดอกไม้ชนิดแปลกใหม่เข้าไป ซึ่งในจำนวนนี้ก็รวมถึงดอกราตรีด้วย ไม่ได้มีเฉพาะดอกไม้ประเภท ‘คลาสสิค’ ที่ใช้ในน้ำอบ น้ำปรุงสูตรดั้งเดิมมาแต่สมัยโบราณ อย่าง กุหลาบ มะลิ กระดังงา สารภี ฯลฯ เท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อดึงดูดความสนใจจากลูกค้านั่นเอง แต่ก็นั่นแหละ การนำกลิ่นราตรีมาผสมในน้ำหอมนี้คงต้องระวังให้มาก เพราะถ้า ‘มือไม่ถึง’ เอาจริงๆ ก็อาจทำให้ลูกค้าเมินหน้าหนีได้ ก็กลิ่นดอกราตรีนั้นเฉียวฉุนรุนแรงน้อยอยู่เสียเมื่อไหร่ คงต้องอาศัยศิลปะและความชำนิชำนาญในการปรุงกลิ่นอยู่มาก จึงจะได้กลิ่นหอมหวนชวนรื่นรมย์ เป็นที่ถูกอกถูกใจคนทั่วไปได้

จริงๆ แล้วดอกไม้หอมที่คนไทยส่วนใหญ่เรียกกันติดปากว่า ‘ดอกไม้ไทย’ นั้นส่วนมากไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในบ้านเรา มีเพียงไม่กี่อย่างที่เรียกได้เต็มปากว่าไม้ไทยแท้ เช่น นมแมว คัดเค้า สารภี จำปีบางชนิด แต่เพราะมีผู้นำต้นพันธุ์เข้ามาปลูกในประเทศไทยนานแล้ว จึงเข้าใจว่าเป็นของพื้นถิ่นไป ที่จริงน่าจะเรียกรวมๆ ว่า “ดอกไม้ถิ่นร้อน” ที่แปลมาจากคำฝรั่งว่า “tropical flowers” น่าจะตรงกับความจริงมากกว่า เพราะดอกไม้เหล่านี้มีเอกลักษณ์ที่กลิ่นหอมขจรขจายไว้ล่อผีเสื้อกลางคืน ส่วนใหญ่จะแย้มกลีบและส่งกลิ่นหอมในยามค่ำ  ขณะที่รูปลักษณ์นั้นงามเรียบๆ ไม่โดดเด่นสะดุดตาเหมือนดอกไม้เมืองฝรั่ง

ดอกไม้เมืองร้อนเหล่านี้ถือเป็นทรัพยากรอันมีค่าของบ้านเราเลยทีเดียว เพราะชาวต่างชาติจำนวนมากหลงใหลน้ำหอมและใช้จ่ายเงินมหาศาลในการซื้อน้ำหอมประพรมร่างกาย กลิ่นที่ถือว่าหรูหรามีราคามากก็คือกลิ่นดอกไม้เมืองร้อนพวกนี้แหละ เพราะเป็นของหายากสำหรับเขา ผู้เขียนยังเคยได้ยินว่า ผู้ผลิตน้ำอบ น้ำปรุงชาวไทยรายหนึ่ง มีลูกค้าจากเมืองฝรั่งที่มาหอบหิ้วกลับไปทีละหลายแกลลอน เพราะติดอกติดใจมนตร์เสน่ห์ตะวันออกในความหอมเหล่านี้ แม้กระทั่งน้ำหอมฝรั่งบางกลิ่นก็ยังได้แรงบันดาลใจจากดอกไม้ถิ่นร้อนเหมือนกัน แต่ก็มีแค่ไม่กี่ชนิดที่ฝรั่งนักผสมน้ำหอมรู้จักดีและนำมาใช้มาก เช่น กระดังงา ซ่อนกลิ่น มะลิ และจำปา น้ำหอมฝรั่งส่วนใหญ่ตามท้องตลาดจึงไม่ค่อยมีความแปลกใหม่น่าสนใจเท่าไรนัก กลิ่นมักออกแนวเดิม ซ้ำๆ กันเสียมาก เพราะผ่านการวิจัยมาแล้วว่าถูกรสนิยมของคนส่วนใหญ่ ใครที่ชอบของแปลกมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวก็อาจผิดหวัง แต่ต้องขอบอกว่ากลุ่มคนที่มีรสนิยมแหวกแนวแบบนี้ชักจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่อย่างนั้นตลาดน้ำหอมประเภท niche ในเมืองฝรั่งคงไม่โตวันโตคืน แถมต้องแข่งขันกันสูง อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เห็นอย่างนี้แล้วก็อยากเอาใจช่วยให้อุตสาหกรรมน้ำหอมไทยได้แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวกับเขาบ้าง เผื่อจะมีใครกล้าคิดสกัดกลิ่นหอมจากดอกไม้ ‘ไทยแท้’ ที่มีถิ่นกำเนิดในบ้านเรากันอย่างเป็นจริงเป็นจัง รวมทั้งดอกอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายที่แม้แต่เหล่าขาประจำของน้ำหอมกลิ่นดอกไม้ ‘ไทยๆ’ เองก็ยังไม่ใคร่คุ้นกลิ่นมากนัก อย่าง กุมาริกา ชะลูดช้าง พญาสัตบรรณ ข้าวหมาก พุดน้ำบุษย์ ฯลฯ ที่สำคัญต้องสามารถยกระดับอุตสาหกรรมให้ประกอบด้วยศาสตร์และศิลป์ในการผลิตน้ำหอมอย่างแท้จริง ไม่ใช่แบบที่ทำขายในร้านสินค้าโอท็อปหรือตลาดนัดอย่างทุกวันนี้ เพราะแม้ราคาจะสบายกระเป๋า แต่คุณภาพของกลิ่นไม่ดีนัก ดมแล้วรู้เลยว่าใช้แต่สารสังเคราะห์ที่ทำเลียนแบบธรรมชาติ แถมคิดจะเลียนแบบทั้งทีก็ไม่เหมือนของจริงเสียนี่ ดมมากๆ เข้าจึงออกอาการมึน คลำทางออกจากร้านแทบไม่เจอ จึงได้แต่หวังว่าสักวันจะมีน้ำหอม Made in Thailand คุณภาพเยี่ยมไปโชว์หราอยู่ในเว็บไซต์ของร้าน Luckyscent หรือ Aedes ของอเมริกา ซึ่งเป็นเหมือนสวรรค์ของเหล่าแฟนพันธุ์แท้น้ำหอมจากทั่วโลกกับเขาบ้าง คงจะน่าภูมิใจไม่หยอก

*ผู้ที่ต้องการนำบางส่วนของบทความไปเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์ชนิดต่างๆ กรุณาระบุที่มาของข้อมูลด้วย…ขอบคุณมากค่ะ