ดอกพุดซ้อน ภาพโดย Mr_Subjunctive จาก http://plantsarethestrangestpeople.blogspot.com

เห็นกลีบดอกสีขาวราวน้ำนมที่ให้สัมผัสนุ่มนวลของดอกพุดซ้อนแล้ว ก็ชวนให้นึกถึงบทเห่ครวญของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ที่ว่า

“ขาวสุดพุดซ้อนแซม         เนื้อแอร่มอร่ามเหลือง

โฉมอ่ากว่าทั้งเมือง หนแห่งใดไม่เหมือนเลย…”

ผู้เขียนว่าดอกพุดซ้อนนี้ถ้าเปรียบเป็นสตรีก็คงเป็นสาวผู้มีท่วงท่ากิริยาอ่อนหวานละมุนละไม ยิ่งพิศไปนานๆ ก็ยิ่งตรึงใจนัก มิใช่หญิงงามที่มีเสน่ห์ทางเพศจัดจ้านร้อนแรง สะดุดตาเพศตรงข้ามแต่แรกเห็น เพราะดอกพุดซ้อนนั้นสีสันเรียบๆ แต่แฝงเสน่ห์ลึกล้ำตรงกลีบดอกซ้อนกันราวกับผืนผ้าจับระบายหลายชั้น ทั้งยังส่งกลิ่นหวานละมุนที่ค่อยทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในยามค่ำ

เดรสสวยจากห้องเสื้อ Rodarte คอลเลคชั่น autumn-winter 2006-2007 ทำให้นึกถึงกลีบสีขาวราวน้ำนมของดอกพุดซ้อน ที่มาภาพ : http://www.vogue.co.uk

พุดซ้อน ที่ฝรั่งเรียกว่า gardenia หรือ cape jasmine นี้เป็นไม้ในวงศ์ Rubiaceae (วงศ์เดียวกับเข็มและกาแฟ) ชื่อการ์ดีเนียนี้ที่จริงเป็นชื่อ genus หรือสกุล มีไม้ดอกในสกุลเดียวกันนี้อีกกว่า 140 ชนิด พุดซ้อนที่เป็นหนึ่งในสกุลนี้ มีชื่อวิทยาศาสตร์เต็มๆ ว่า Gardenia jasminoides หรือ Gardenia augusta แต่ฝรั่งนำเอาชื่อ genus คือ การ์ดีเนีย มาเรียกเป็นชื่อสามัญด้วย                       

ชื่อการ์ดีเนียนี้ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ Alexander Garden แพทย์และนักพฤกษศาสตร์ในยุคศตวรรษที่ 18 เล่ากันว่าในสมัยนั้นGardenต้องอพยพจากประเทศสก็อตแลนด์ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอน ไปยังดินแดนใหม่คือสหรัฐอเมริกา จึงต้องอยู่ห่างไกลจากแวดวงวิทยาศาสตร์ยุโรป ในช่วงเวลาที่ตัวเขาเองก็กำลังกระหายชื่อเสียงในวงวิชาการ Garden จึงมักติดต่อสมาคมกับพวกนักวิทยาศาสตร์ยุโรปอยู่เนืองๆ ซึ่งก็รวมถึง John Ellis นักธุรกิจและนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษผู้หลงใหลในพรรณไม้ต่างๆ          

 

Garden มักส่งตัวอย่างพันธุ์พืชและสัตว์แปลกๆ จากอเมริกาไปให้ Ellis ในกรุงลอนดอน ซึ่ง Ellis ก็จะส่งต่อไปให้ Carl Linnaeus ในประเทศสวีเดน Linnaeus ผู้นี้ก็คือปรมาจารย์ทางพฤกษศาสตร์ที่ได้รับการขนานนามว่า “King of Botany” เป็นผู้ทำให้ระบบการตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ เป็นภาษาละตินกลายเป็นที่ยอมรับและเป็นแบบแผนปฏิบัติสืบมาถึงทุกวันนี้ Ellis นั้นเห็นว่า Garden ได้สร้างคุณูปการไว้แก่แวดวงพฤกษศาสตร์อย่างมาก จึงเสนอให้ตั้งชื่อพันธุ์ไม้สักอย่างเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา แต่ Linnaeus กลับไม่เห็นด้วย เพราะเกรงจะถูกครหาว่าเลือกเอาแต่ชื่อพรรคพวกเพื่อนฝูงมาตั้งเป็นชื่อพันธุ์ไม้ แต่นักธุรกิจชาวอังกฤษผู้นี้ก็ยังไม่ละความพยายาม กระทั่งเมื่อได้ไปเยี่ยมชมสวนแห่งหนึ่งนอกกรุงลอนดอน และได้เห็นดอกไม้แปลกหายากที่ถูกค้นพบในแถบชนบทของประเทศแอฟริกาใต้ (ภายหลังกลับพบว่าจริงๆ แล้วดอกไม้ที่ว่ามาจากประเทศจีน ไม่ใช่แอฟริกาใต้อย่างที่เคยเข้าใจกันแต่แรก) จึงได้เขียนจดหมายไปหา Linnaeus ขอร้องว่าให้ตั้งชื่อดอกไม้ชนิดนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ Garden หลังจากที่เคยพยายามเสนอชื่อพฤกษศาสตร์ไปแล้วก่อนหน้านี้หลายชื่อแต่ไม่ประสบผล                 

 

ด้าน Linnaeus นั้นแม้ไม่ค่อยเต็มใจนัก เพราะ Garden เองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลยในการค้นพบดอกไม้ชนิดนี้ แต่ก็จำยอมตามคำขอ โดยมีข้อแม้ว่า Ellis ต้องไปตีพิมพ์ชื่อพฤกษศาสตร์ดังกล่าวเอาเอง ส่วนตัวเขาจะอ้างถึงชื่อใหม่นี้ในหนังสือ “The King Linnaeus Bible, Species Plantarum” ฉบับใหม่ที่จะตีพิมพ์ขึ้นทีหลัง นัยว่าเพื่อเลี่ยงการตกเป็นขี้ปากชาวบ้านนั่นเอง สรุปว่าตัว Alexander Garden ซึ่งเป็นที่มาของชื่อการ์ดีเนียนั้นกลับไม่เคยเห็นดอกไม้นี้เลยจนกระทั่ง Ellis ส่งไปให้เขา 2 ต้นในภายหลัง แต่ก็ตายไปทั้งคู่ จนเจ้าตัวถึงกับเชื่อว่าเป็นลางร้ายที่บอกเหตุว่าชื่อนี้คงไม่โด่งดังเป็นที่ยอมรับจากคนทั่วไป แต่ต่อมาภายหลังชื่อการ์ดีเนียนี้ก็ใช้เรียกกันแพร่หลายทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน

 

พุดซ้อนหรือการ์ดีเนียนี้ก็อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าจริงๆ แล้วมีถิ่นกำเนิดในจีนตอนใต้และญี่ปุ่น ชาวจีนและญี่ปุ่นถือเป็นสัญลักษณ์ของความสง่างามและความอ่อนโยนละเมียดละไมของหญิงสาว นับเป็นดอกไม้มีค่าอีกชนิดเพราะให้กลิ่นหอมหวาน ทั้งยังนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยเฉพาะทางการแพทย์แผนโบราณของจีน

ดอกพุดซ้อนใช้แต่งโต๊ะดินเนอร์ให้ภาพโรแมนติคและกลิ่นหอมยวนใจ

ชาวจีนใช้พุดซ้อนเป็นยาลดอาการบวม ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี และลดความร้อนในกระแสเลือด นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาห้ามเลือดและรักษาบาดแผลบริเวณกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเส้นเอ็น แก้อาการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ฝี โรคดีซ่าน ละลายเสมหะ บรรเทาอาการเครียด นอนไม่หลับ ปวดศีรษะหรือคลื่นไส้ กลิ่นหอมของพุดซ้อนยังให้ความรู้สึกอบอุ่นผ่อนคลาย ผู้เขียนเองมักชอบเก็บดอกไม้ชนิดนี้มาลอยน้ำวางไว้ในห้องนอน ส่งกลิ่นหอมหวานอบอวล ชวนให้รู้สึกอบอุ่นสบายอกสบายใจดีจริงๆ           

ทางภาคเหนือบ้านผู้เขียนเรียกพุดซ้อนว่า “เก็ตถวา” (ออกเสียงว่า เก็ด-ถะ-หวา) ผู้เฒ่าผู้แก่ชอบนำมาเสียบมวยผมเวลาออกงานบุญหรือไปวัดไปวา เพราะทั้งสวยทั้งหอม ส่วนทางภาคอีสานเรียกว่า อินถวา ซึ่งก็มีที่มาจากตำนานพื้นบ้านของอำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี จึงจะขอคัดลอกมาเล่าสู่กันฟังดังนี้         

      

“เจ้าเมืองเชียงสม เชียงสา มีธิดาผู้เลอโฉม นามว่านางอินถวา ผู้มีจิตใจเมตตาต่อสัตว์ทุกชนิด วันหนึ่ง มีลูกจระเข้พลัดหลงเข้ามาบริเวณสระน้ำใกล้อุทยานท้ายวัง นางจึงเอามาเลี้ยงไว้ในตุ่มน้ำ จระเข้นั้นก็เชื่องและรักนางมาก เมื่อมันโตขึ้น จึงนำไปปล่อยที่สระน้ำ วันหนึ่งนางอินถวาลงไปเล่นน้ำกับจระเข้ในสระ ได้ขี่จระเข้ไปเก็บดอกบัวกลางสระ ขณะนั่งก็สางผมไปด้วยอย่างมีความสุข ไม่ทันระวัง หวีในมือจึงตกลงไปในน้ำ นางก้มลงเก็บหวี จึงพลัดตกลงไปจากหลังจระเข้ จระเข้ตัวนั้นด้วยความกลัวนางจะตกน้ำ จึงใช้ปากงับร่างนางไว้แน่น เมื่องับแล้วก็คายไม่ออกจึงกลืนร่างนางเข้าไป ด้วยความกลัวเจ้าเมืองจะเอาผิด มันได้หนีเข้าป่าไปหลบอยู่ที่วังน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง                     

                                 

ฝ่ายเจ้าเมืองโกรธแค้นมากเมื่อรู้ว่าจระเข้กินบุตรสาวเข้าไป จึงสั่งให้หาหมอจระเข้มาปราบ หมอ 2 คนแรกที่เป็นชายกลับถูกจระเข้จับกินหมด ส่วนหมอจระเข้คนสุดท้ายเป็นหญิง มีอาคมแก่กล้า ได้ทำพิธีปราบจระเข้ โดยให้เสนาอำมาตย์หาเชือกใหญ่ เอาปลายข้างหนึ่งมัดติดต้นไม้ให้แน่น ปลายอีกข้างผูกกับฉมวกเหล็ก เมื่อโอมอ่านมนตราแล้วก็ถือฉมวกเหล็กดำนำลงไปยังถ้ำจระเข้ จระเข้ก็นอนอ้าปากกว้างเท่ากับปากถ้ำคอยท่าอยู่ เพราะคิดว่าหมอจระเข้คงว่ายน้ำเข้ามาจับตนในถ้ำ                                            

 

เมื่อแม่หมอชูฉมวกเหล็กว่ายน้ำเข้าไปในถ้ำ มันจึงรีบงับทันทีหวังจะจับกินเสีย แต่ฉมวกเหล็กก็ค้ำปากไว้ มันดิ้นทุรนทุรายอย่างเจ็บปวดแสนสาหัส ฝ่ายแม่หมอก็ว่ายน้ำขึ้นมาบอกบ่าวไพร่ให้ช่วยกันดึงเชือกที่ผูกติดฉมวกไว้ จระเข้จึงถูกลากขึ้นมาผ่าท้อง ปรากฏว่าในท้องของมันมีอัฐิและของใช้ของนางอินถวา เช่น กำไลข้อมือ สร้อยคอ ผ้าซิ่น เจ้าเมืองจึงให้นำอัฐิของนางไปทำบุญอุทิศส่วนกุศล และตั้งชื่อวังน้ำแห่งนี้ว่า วังสามหมอ อัฐิของนางอินถวาก็ได้นำไปฝังไว้ข้างวัง ต่อมาในบริเวณนั้นมีต้นไม้ชนิดหนึ่งเจริญเติบโตขึ้น มีดอกสีขาวสวยงาม ส่งกลิ่นหอมขจรขจาย ชาวเมืองจึงเรียกดอกไม้นี้ว่าดอกอินถวา”               

 

ก็เป็นที่มาของชื่ออันเพราะพริ้งของดอกไม้ชนิดนี้ในภาษาถิ่นอีสาน                                                                                    

 กลิ่นหอมโรแมนติคของดอกพุดซ้อนนี้ก็มาจากสาร ประกอบ อาทิ benzyl acetate ซึ่งเป็นกลิ่นหอมหวานที่พบในดอกมะลิด้วย, linalool เป็นกลิ่นสดชื่นที่พบในดอกไม้หลายชนิด ส่วน methyl benzoate และ methyl anthranilate ก็เป็นกลิ่นเย้ายวนที่พบในดอกซ่อนกลิ่นซึ่งมีกลิ่นใกล้เคียงกับพุดซ้อนด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ก็มีสารจำพวก lactone ซึ่งพบในผลไม้กลิ่นหอมน่ากินอย่างลูกพีชหรือแอพปริค็อต ทั้งหมดเป็นส่วนผสมที่หลอมรวมกันได้อย่างสมดุลกลมกลืน กลายเป็นกลิ่นหอมซึ้งตรึงใจเสียเหลือเกินสำหรับผู้เขียน ชนิดที่ว่าถ้าจะให้จัดอันดับดอกไม้หอมที่สุดบนพื้นพิภพนี้ พุดซ้อนก็คงได้อันดับหนึ่งไปอย่างไม่ต้องสงสัย

Billie Holiday กับดอกพุดซ้อนแซมผมอันเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว

ดอกพุดซ้อนเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของ Billie Holiday นักร้องเพลงแจ๊ซและบลูส์ชาวอเมริกันที่โด่งดังในยุคทศวรรษที่ 1930 – 1950 เจ้าของเสียงแหบหยาบที่ให้อารมณ์เศร้าลึก ไม่ต่างจากชีวิตส่วนตัวของเธอที่ขาดความอบอุ่นจากแม่และถูกข่มขืนในวัยเด็ก  ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุของพฤติกรรมทำลายตัวเองในวัยผู้ใหญ่ ทั้งการติดเหล้าและยาเสพติด และชีวิตคู่ที่ล้มเหลวกับหนุ่มๆ ประเภทแบดบอยหลายคน กระทั่งเสียชีวิตในวัยเพียง 44 ปีด้วยโรคตับแข็ง ในช่วงสุดท้ายของชีวิตนั้น เนื้อเสียงของเธอถูกทำลายจากการเสพยาและปัญหาสุขภาพ แต่ความลึกของอารมณ์ที่ถ่ายทอดออกมานั้น ก็ยังคงติดตรึงในใจผู้ฟังได้อย่างน่าอัศจรรย์

ใครที่เป็นแฟนเพลงของ Holiday มักติดตากับภาพเธอในชุดราตรีงามสง่า ผมเกล้าเป็นมวย แซมด้วยดอกพุดซ้อนขนาดใหญ่เวลาขึ้นแสดง น้ำหอมแบรนด์หรูของอเมริกา อย่าง Strange Invisible Perfumes ได้แรงบันดาลใจจากนักร้องระดับตำนานผู้นี้ ถึงกับตั้งชื่อน้ำหอมที่มีกลิ่นพุดซ้อนเป็นส่วนผสมว่า “Lady Day” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของเธอที่แฟนๆ รู้จักกันดี น้ำหอมนี้ให้กลิ่นที่ขัดแย้งระหว่างความเปรี้ยวซาบซ่านของ lemon verbena และ blood orange กับความหวานเย้ายวนของพุดซ้อนและมะลิ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าจริงๆ แล้วเป็นกลิ่นออกสดชื่น ไม่เห็นถ่ายทอดอารมณ์หม่นเศร้าเหมือนท่วงทำนองชีวิตของ Lady Day เลย ผู้เขียนเองก็เห็นด้วยว่ากลิ่นพุดซ้อนนั้นหวานละมุน ชวนให้นึกถึงเสียงกังวานใสนุ่มนวลของนักร้องแจ๊ซและบลูส์รุ่นใหม่อย่าง Norah Jones เสียมากกว่า         

Sofia Coppola ในแคมเปญโฆษณาน้ำหอม Marc Jacobs

ดีไซเนอร์ดังของยุคนี้อย่าง Marc Jacobs ก็ได้แรงบันดาลใจจาก Lady Day ในการสร้างสรรค์น้ำหอม Marc Jacobs ซึ่งมีส่วนผสมของพุดซ้อนและขิง โฆษณาว่าเหมาะกับสาวยุคใหม่ผู้มีบุคลิกอ่อนหวานปราดเปรียว จึงได้สาวเก๋อย่าง Sofia Coppola ทายาทของ Francis Ford Coppola ผู้กำกับหนังระดับตำนานของฮอลลีวู้ด มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เพื่อสื่อภาพลักษณ์สุดโมเดิร์นของน้ำหอมขวดนี้ แต่ต้องสารภาพว่าได้ลองดมดูแล้วไม่ค่อยติดใจนัก เพราะกลิ่นออกฉุนแบบสารสังเคราะห์ ไม่หอมเหมือนดอกพุดซ้อนที่เพิ่งเด็ดจากต้น

ดอกพุดซ้อนนี้เป็นที่รู้กันดีในแวดวงคนทำน้ำหอมว่าสกัดกลิ่นได้ยากมาก กลีบดอกไม่สามารถทนความร้อนจากการกลั่นด้วยไอน้ำ แม้กระทั่งวิธีที่ไม่ใช้ความร้อนอย่างการนำดอกไปแช่ในแอลกอฮอล์หรือการสกัดด้วยไขมันเย็น (enfleurage) ก็ยังไม่สามารถดึงเอากลิ่นหอมออกมาได้อย่างเต็มที่ ผู้ผลิตน้ำหอมโดยทั่วไปมักใช้สารสังเคราะห์ผสมกับหัวน้ำมันดอกไม้และสมุนไพรต่างๆ เพื่อเลียนกลิ่นหอมของพุดซ้อน แต่ก็มีส่วนน้อยที่ปรุงกลิ่นได้ใกล้เคียงกับของจริง โดยมากจะมีกลิ่นฉุนแรงแบบสารสังเคราะห์ เทียบไม่ได้กับกลิ่นหอมของดอกพุดซ้อนที่เพิ่งเด็ดจากต้นใหม่ๆ สะท้อนว่าธรรมชาติได้รังสรรค์กลิ่นหอมลึกล้ำ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ยากที่มนุษย์จะปรุงแต่งได้เสมอเหมือน                          

 

พุดสกุลการ์ดีเนียอีกชนิดที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักแพร่หลายโดยเฉพาะในโลกตะวันตก ก็คือพุดจากเกาะตาฮิติ หรือ Tahitian gardenia มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Gardenia taitensis ภาษาพื้นเมืองของชาวเกาะเรียกว่า Tiare (ออกเสียงว่า ติอาเร่) ยกย่องกันว่าเป็นพุดการ์ดีเนียชนิดที่หอมที่สุดในโลก ในบ้านเราก็มีผู้นำเข้ามาเพาะพันธุ์ขายแล้ว ตั้งชื่อไว้อย่างเพราะพริ้งว่า “พุดแสงอุษา” มีดอกสีขาวพิสุทธิ์เช่นเดียวกับพุดซ้อน แต่กลีบดอกเรียงชั้นเดียว รูปทรงกลีบแคบ ปลายมน กลิ่นหอมอ่อนโยนละมุนละไมแบบ ‘ผู้ดี’ จริงๆ แต่ถ้าเทียบกับพุดซ้อนแล้วผู้เขียนก็ว่ายังเป็นรองอยู่มาก                                                                       

พุดแสงอุษานี้ถือเป็นราชินีแห่งมวลดอกไม้ของชาวโพลีนีเชียหรือชาวเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิคเลยทีเดียว นิยมนำมาร้อยเป็นมาลัยคล้องคอหรือทำมงกุฎดอกไม้สำหรับมอบให้แขกบ้านแขกเมือง เป็นเครื่องแสดงมิตรไมตรีของชาวเกาะตาฮิติ ส่วนหนุ่มสาวก็จะมีทริคน่ารักๆ ในการใช้ดอกพุดบอกความในใจ เช่นถ้าใช้ดอกทัดหูซ้ายก็หมายความว่ามีคนรักแล้ว แต่ถ้าทัดหูขวาหมายถึงหัวใจยังว่างอยู่ และหากชาวตาฮิติคนใดถือดอกพุดนี้โบกไปมาอยู่ไหวๆ ก็เท่ากับเชื้อเชิญว่า “ตามฉันมาสิ”    

ภาพหญิงชาวตาฮิติทัดดอกพุดบนใบหูของ Paul Gauguin จิตรกรเอกแห่งสำนัก Impressionism ชาวฝรั่งเศส

นอกจากจะใช้เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความรักแล้ว สรรพคุณด้านการบำบัดรักษาของพุดชนิดนี้ก็มีอยู่หลายข้อ ชาวเกาะตาฮิติมักนำกลีบดอกแช่ในน้ำอุ่น หรือไม่ก็นำมาผสมกับพืชสมุนไพรชนิดอื่นๆ หรือหยดน้ำมันที่เรียกว่า monoi ลงไป ใช้บรรเทาอาการไมเกรนและอาการคันจากยุงกัด ทั้งยังนิยมนำภาชนะใส่น้ำลอยดอกพุดวางไว้ให้ส่งกลิ่นหอมกรุ่นกำจายในที่พักอาศัยอีกด้วย                     

หลายคนคงสงสัยว่า monoi คืออะไร นี่แหละเคล็ดลับความงามของชาวเกาะเขาล่ะ ได้จากการนำดอกพุดที่ยังตูมไปแช่น้ำมันมะพร้าวอย่างน้อย 15 วัน เพื่อให้กลิ่นหอมและสรรพคุณของดอกไม้ละลายออกมาในน้ำมัน โดยต้องใช้อย่างน้อย 15 ดอกต่อน้ำมันมะพร้าวอย่างดี 1 ลิตร  monoi ที่ได้นี้มีคุณสมบัติเป็นมอยส์เจอร์ไรเซอร์อย่างดีสำหรับบำรุงผิวพรรณ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาผิวแห้ง สาวๆ ชาวตาฮิติมีผิวพรรณอ่อนเยาว์ผุดผ่อง ไม่ถูกทำลายโดยรังสียูวีในแสงแดด ก็เพราะใช้ monoi กันเป็นประจำ

 

บริษัทเครื่องสำอางของฝรั่งในปัจจุบันก็พากันออกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ monoi กันมากมาย เพราะเป็นที่นิยมของลูกค้า เดาว่าคงเพราะชาวตะวันตกนิยมเดินทางท่องเที่ยวหมู่เกาะอย่างตาฮิติและฮาวาย จึงได้ซึมซับเอาเคล็ดลับความงามและความหอมของชาวเกาะเข้าไปด้วย ฝรั่งถือว่ากลิ่น monoi หรือกลิ่นดอกพุดผสมกลิ่นมะพร้าวนั้นเป็นสัญลักษณ์ของฤดูร้อน โดยเฉพาะเวลาไปเที่ยวพักตากอากาศตามชายหาด จึงนิยมประพรมน้ำหอมกลิ่นนี้ เพราะถือว่าเข้ากับบรรยากาศเป็นอย่างดี จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ย้อมสีผิวที่เรียกว่า sun tan oil หรือ sun tan lotion ซึ่งนิยมใช้กันเวลาไปเที่ยวชายหาดนั้นก็มักแต่งกลิ่นเลียนแบบ monoi นี้เอง             

                                                                       

เล่าถึงพุดสกุลการ์ดีเนียบางชนิดที่มีดอกสีขาวกลิ่นหอมไปแล้ว ก็ต้องไม่ลืมชนิดที่มีสีสันเจิดจ้าสดใสด้วย พุดพวกนี้ใครอย่าปรามาสว่ามีดีแค่สีสวยอย่างเดียวเชียว เพราะมีกลิ่นหอมโดดเด่นไม่เป็นสองรองใครเหมือนกัน อย่างเช่น พุดน้ำบุษย์ ที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Gardenia carinata ชาวตะวันตกรู้จักกันในชื่อ Kedah gardenia เพราะมีถิ่นกำเนิดในคาบสมุทรมลายูนี่เอง         

พุดน้ำบุษย์ หรือ Gardenia carinata ที่มาภาพ : http://www.rareflora.com

พุดน้ำบุษย์นี้ลำต้นสูงราว 2-3 เมตร ใบรูปรีปลายแหลม ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน ดอกเมื่อแรกแย้มมีสีขาว ก่อนจะกลายเป็นสีเหลือง และเหลืองอมส้มในยามใกล้โรย จึงมีชื่อภาษาอังกฤษว่า golden gardenia ด้วย โคนดอกเป็นหลอดยาว ปลายบานออกเป็น 6-9 กลีบ มักออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ เวลาบานสะพรั่งจะส่งกลิ่นหอมขจรขจายโดยเฉพาะในยามค่ำ ผู้เขียนว่ากลิ่นพุดน้ำบุษย์นี้หอมหวานคล้ายลูกพลับสุก ก็เป็นความรู้สึกส่วนตัวที่ไม่รู้จะตรงใจใครหลายคนที่ชื่นชอบดอกไม้ชนิดนี้เหมือนกันหรือเปล่า

พุดอีกชนิดที่รูปลักษณ์ใกล้เคียงกันคือ พุดสีหรือพุดป่า ซึ่งมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Gardenia tubifera มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นเดียวกัน ดอกเมื่อแรกบานเป็นสีเหลืองอ่อน จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้มขึ้น ส่งกลิ่นหอมตลอดทั้งวัน พุดอีกชนิดที่มีลักษณะคล้ายพุดสีนี้ก็คือ Gardenia thailandica ซึ่งในรายชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย โดย ศ. เต็ม สมิตินันทน์ ระบุไว้ว่าทางภาคเหนือและชลบุรีเรียกพุดป่าเช่นเดียวกัน ส่วนภาคใต้เรียกว่า รักนา ก็ถือเป็นไม้หอมอีกชนิดที่เรียกได้เต็มปากว่าไม้ไทยแท้ เพราะมีถิ่นกำเนิดในบ้านเรานี่เอง พุดชนิดนี้เมื่อแรกแย้มเป็นสีขาวนวล จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเหลืองเข้มขึ้นในยามใกล้โรย

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าสารบางชนิดจากใบและก้านของทั้งพุดสีและพุดป่า (รักนา) นี้ ออกฤทธิ์ต้านโรคเอดส์ ก็น่ายินดีที่ได้พบว่ายังมีไม้ไทยแท้อีกชนิดที่มีสรรพคุณในการรักษาโรค โดยเฉพาะโรคร้ายชนิดนี้ซึ่งคร่าชีวิตคนไทยจำนวนมาก น่าสนับสนุนให้มีการศึกษาถึงผลข้างเคียงและความเป็นไปได้ที่จะนำมาผลิตยารักษาโรคต่อไป เพื่อลดการพึ่งพิงยานอกซึ่งมีราคาแพง

เห็นไหมล่ะว่า ไม้ดอกเหล่านี้ไม่ได้มีดีแค่รูปลักษณ์สวยงามและกลิ่นหอมยวนใจเท่านั้น แต่ยังมีคุณประโยชน์มหาศาลต่อร่างกายอีกด้วย น่าขอบคุณธรรมชาติที่สร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ไว้เป็นเครื่องจรรโลงจิตมนุษย์ ให้รักและเห็นคุณค่าของโลกที่ตัวเองอยู่อาศัย จะได้มีสติยั้งคิดก่อนจะทำลายสมดุลธรรมชาติให้ปรวนแปรมากเกินเยียวยา เพื่อจะได้ชมความงามและความประสานกลมกลืนของสรรพชีวิตในโลกต่อไปได้อีกนานๆ

*ผู้ที่ต้องการนำบางส่วนของบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ กรุณาระบุที่มาของข้อมูลด้วย ขอบคุณค่ะ

น้ำหอมกลิ่นพุดซ้อน/พุดแสงอุษาหรือที่ใช้กลิ่นพุดทั้งสองชนิดเป็นส่วนผสม

mass market/counter brands : Gardenia by Demeter, Pur Desir de Gardenia by Yves Rocher, Ile de Tahiti Tiare Flower by Bath & Body Works, Gardenia by Terra Nova, Gardenia Petale by Van Cleef & Arpels Collection Extraordinare, Aqua Allegoria Tiare Mimosa by Guerlain, Very Hollywood และ Island Fiji by Michael Kors, Marc by Marc Jacobs, Azuree Soleil และ Bronze Goddess by Estee Lauder, Le Feu d’ Issey Light by Issey Miyake, Shedonism Exotic Floral Essence by Origins, Gardenia Musk by Trish McEvoy, No.1 Gardenia by  Sonia Kashuk, Jungle Gardenia by Coty (vintage/hard-to-find)

niche/exclusive brands : Kai by Kai, Monyette by Monyette Paris, Moonstone by Sage Machado, Gardenia Passion by Annick Goutal, Cruel Gardenia by Guerlain, Vintage Gardenia by Jo Malone, Saks 5th Avenue by Bond No. 9, Tuberose Gardenia by Estee Lauder Private Collection, Intense Tiare by Montale, Ensoleille Moi by Andre Gas, Tiare by Ormonde Jayne, To Twirl All Girly by Pilar & Lucy, Tropical Gardenia และ Tiare Coconut  by Lucy B, Velvet Gardenia by Tom Ford Private Blend, Lady Day และ Epic Gardenia by Strange Invisible Perfumes, Gardenia by Lucien Lelong, Gardenia by Florist of London, Jardenia by JAR, Gardenia by Isabey, By Sand by Ebba, Tahitian Gardenia by Pacifica, Gardenia by M. Micallef, Gardenia Florida by i Profumi di Firenze, La Roue de la Fortune 10 by Dolce & Gabbana Fragrance Anthology, Perfect Gardenia by Creative Scentualization, Le Parfum Ala Moana by Antica Farmacista, Gardenia by L’Orientaliste, Vacances Liquide by Memoire Liquide Reserve, Momoberry by Sanrio, Touch by Tocca,  Gardenia by Jalaine , Hazel’s  by Melissa Flagg, Forbidden  by Michael Marcus, ‘UME by Saffron James, Ilang Ilang  by Tsi-La Organics, Black Gardenia by Michele Bergman , Gardenia by Susanne Lang, Gardenia by Christiane Celle Calypso, Gardenia by Santa Maria Novella, Nouveau Gardenia, Pink Gardenia และ Sweet Gardenia by Dawn Spencer Hurwitz, Tiare by Chantecaille, Gardenia, Gardenia Musk และ Tiare by Ava Luxe, 1849 – Gardenia by Molinard, Fleurs de Gardenia by Creed (limited edition), Midnight Sun by Aqaba, Whiteflowers 1.41 และ Omniscent 0.96 by YOSH, Aloha Tiare by Comptoir Sud Pacifique, Vittoria Apuana by Profumi del Forte , Untitled No. 3 และ Untitled No. 4 by Untitled, Sensual Floral by Filles Des Iles, VIP Room by VIP