ผู้เขียนเคยเล่าถึงดอกกระดังงา ซึ่งเป็นไม้สำคัญในวงศ์ Annonaceae ไปแล้วก่อนหน้านี้ จึงจะขอสาธยายต่อถึงดอกไม้เมืองร้อนกลิ่นหอมแรงอีกหลายชนิดในวงศ์เดียวกัน โดยเลือกเฉพาะที่รู้จักกันแพร่หลายมากในประเทศไทย

ชนิดแรกคือ การเวก หรือ กระดังงาเถา ซึ่งภาษาถิ่นภาคเหนือเรียกสบันงาเครือ คล้องกับชื่อฝรั่งว่า Climbing Ilang-Ilang ที่เรียกเช่นนั้นเพราะลำต้นการเวกเป็นเถาเลื้อยขนาดใหญ่ มีหนามแข็ง ใบดกแน่นทึบ ใบขนาดใหญ่ปลายแหลม หน้าใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนหลังใบสีอ่อนกว่า ฟอร์มของกิ่งก้านและใบที่ดูสวยงามจึงเหมาะจะปลูกให้เลื้อยตามซุ้มต่างๆ หรือจะปล่อยให้ยืนต้นอยู่เดี่ยวๆ ก็ได้เหมือนกัน แต่ต้องคอยตัดแต่งทรงพุ่มให้เป็นระเบียบสวยงามอยู่เสมอ เพราะกิ่งก้านของเจ้าการเวกนี้โตเร็วมากและคอยแต่จะเลื้อยซอกซอนไปเกี่ยวกระหวัดต้นไม้อื่นที่อยู่รายรอบ พุ่มดกหนาทึบของการเวกที่บ้านผู้เขียนนั้นยังเป็นที่อยู่อาศัยของงูเขียวที่มักจะอำพรางตัวเข้ากับกิ่งก้านอย่างแนบเนียน เวลาจะตัดแต่งทรงพุ่มก็ให้นึกหวาดเสียวทุกครั้ง

ดอกการเวก ภาพจาก http://www.toptropicals.com

การเวกมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Artabotrys siamensis บ่งบอกว่าเป็นไม้หอมที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยเรานี่เอง ว่ากันว่าชื่อการเวกนี้ได้มาจากชื่อนกในป่าหิมพานต์ ซึ่งมีเสียงก้องกังวานไพเราะ ชนิดที่ใครได้ฟังเป็นต้องนิ่งอึ้งตะลึงลาน ไม่สนใจสรรพสำเนียงอื่นใดเลยนอกจากเสียงนกการเวกนี้ สาเหตุที่นำเอาชื่อนกการเวกมาตั้งเป็นชื่อดอกไม้ ก็คงตั้งใจจะสื่อถึงกลิ่นที่หอมฟุ้งขจรขจายไปไกลชนิดที่ใครได้ดมแล้วต้องตกอยู่ในภวังค์เคลิบเคลิ้มเหมือนฟังเสียงนกการเวก  ดอกการเวกนี้ส่งกลิ่นฉุนแรงในตอนเย็นคล้ายกลิ่นกล้วยหอมสุก มีลักษณะพิเศษคือใครที่ชอบกลิ่นนี้ก็จะติดใจหลงใหลเอามาก ส่วนใครที่ทนกลิ่นไม่ได้ก็ต้องคอยหลีกให้ห่างจากต้นการเวก เพราะอาจถึงขั้นสลบไสลเอาได้ง่ายๆ

ชื่อที่ไพเราะทำให้การเวกเป็นไม้มงคลที่คนไทยนิยมปลูกประดับบ้านมาแต่โบราณ เวลาออกดอกจะคว่ำหัวห้อยระย้าลงจากกิ่งก้าน แต่ละดอกมี 6 กลีบ เนื้อกลีบอวบหนา เมื่อยังตูมดอกสีเขียว เมื่อบานเต็มที่เป็นสีเหลืองสด ออกดอกตลอดปี แต่จะดกสะพรั่งในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม

ในบ้านเรามีผู้ผลิตน้ำหอมและเทียนหอมกลิ่นดอกการเวกขายด้วย แต่ผู้เขียนไม่เคยซื้อมาทดลองใช้ เพราะรู้สึกว่ากลิ่นการเวกนั้นฉุนแรงมากเกินไป แม้จะเคยนำกลีบการเวกซึ่งบานเต็มที่มาแช่ในเอธานอลความเข้มข้นสูงซึ่งเป็นวิธีสกัดกลิ่นอย่างง่าย แต่กลิ่นที่ได้นั้นฉุนแรงมากเสียจนไม่แน่ใจว่าจะนำมาผสมน้ำหอมได้อย่างไร เพราะน้ำหอมผู้หญิงส่วนใหญ่นั้นต้องเน้นให้มีกลิ่นนุ่มนวลละมุนละไม หากจะผสมกลิ่นการเวกลงในน้ำหอม คงต้องใช้แต่น้อย และเติมส่วนผสมที่ช่วยลดทอนความเข้มข้นของกลิ่น เช่น ผลไม้ตระกูลส้ม สมุนไพร และเนื้อไม้หอมต่างๆ หรือส่วนผสมที่ช่วยเพิ่มความหวานละมุนอย่างวานิลลา แอมเบอร์ หรือมัสค์ เข้าไปด้วย

ดอกลำดวน จาก http://www.nairobroo.com

ถัดมาคือดอกลำดวน หรือที่ชาวเหนือเรียกหอมนวล มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Melodorum fruticosum เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงราว 8-12 เมตร ลำต้นหยัดตรง เปลือกสีน้ำตาลอมเทา ใบเดี่ยวเรียงสลับรูปหอกแกมขอบขนาน หน้าใบสีเขียวเข้ม หลังใบสีนวล ดอกสีเหลืองครีม มีทั้งหมด 6 กลีบ กลีบชั้นนอก 3 กลีบแผ่ออกจากกัน ขณะที่เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียจะซ่อนอยู่หลังกลีบชั้นในซึ่งมี 3 กลีบหุบเข้าหากัน ผู้เขียนรู้สึกว่าดอกลำดวนนี้มีกลิ่นเย้ายวนคล้ายกระดังงาอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ออกนุ่มนวลกว่า คล้ายเจือด้วยกลิ่นแป้งเล็กน้อย จนเมื่อได้ดมครั้งแรกก็เผลอตกอยู่ในภวังค์ครู่หนึ่ง นึกว่าได้ย้อนเวลากลับไปในสมัยโบราณ เพราะนึกเห็นภาพหญิงสาวในชุดผ้าสไบพลิ้วพรายพร้อมกลิ่นอ่อนละมุนของเครื่องหอมไทย

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร มหากวีของไทย ทรงกล่าวถึงลำดวนในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกว่า

จึงได้รู้ว่าคนโบราณใช้ดอกลำดวนร้อยเป็นมาลัยคล้องคอเหมือนกัน คนสมัยใหม่ได้เห็นเข้าคงจะว่าสวยแปลกตาดีเหมือนกัน เพราะดอกลำดวนมีรูปทรงน่ารักกระจุ๋มกระจิ๋มราวกับปั้นแต่งขึ้น ปัจจุบันไม่ค่อยเห็นมีใครร้อยมาลัยดอกลำดวนกัน จริงๆ แล้วดอกไม้ชนิดนี้มีกลีบค่อนข้างแข็ง ไม่บอบช้ำง่าย จึงเหมาะจะนำมาร้อยเป็นมาลัยมอบให้แก่กันจริงๆ

ความงามของดอกลำดวนนี้ยังปรากฏในขนมที่ชื่อว่า “กลีบลำดวน” ทำจากแป้งสาลีผสมน้ำตาลทรายและน้ำมันพืช นำมาปั้นเลียนแบบรูปดอกลำดวน นำไปอบจนกรอบ เพิ่มความหอมน่ารับประทานด้วยการอบควันเทียนอันเป็นเอกลักษณ์ของขนมไทยโบราณ แม้จะไม่ได้กลิ่นหอมของดอกลำดวนแท้ๆ แต่ก็สื่อถึงความสวยน่ารักของดอกลำดวนได้อย่างดี

ขนมกลีบลำดวน จาก http://student.nu.ac.th

ลำดวนเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ ในเดือนมีนาคมซึ่งดอกลำดวนกว่า 50,000 ต้นภายในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์อันเป็นแหล่งที่มีต้นลำดวนมากที่สุดในประเทศไทย เริ่มเบ่งบานส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่วบริเวณ จะมีการจัดงานเทศกาลดอกลำดวนบาน โดยภายในงานมีกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม และการแสดงมหรสพต่างๆ

ดอกลำดวนถือเป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุด้วย เล่ากันว่าครั้งหนึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราฯ บรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าของชาวไทย เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชาวศรีสะเกษ เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นดอกลำดวนบานสะพรั่งส่งกลิ่นหอมโชยชื่น ก็ทรงพอพระราชหฤทัยมาก  ดอกลำดวนจึงกลายเป็นเครื่องหมายของคนสูงอายุนับแต่นั้น

เมื่อเห็นประโยชน์ทางการแพทย์ของลำดวนแล้ว ก็นับว่าเหมาะจะเป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงวัยจริงๆ  เพราะ ดอกลำดวนตากแห้งมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจและกระตุ้นการผลิตเซลล์เม็ดเลือด รวมทั้งช่วยกระชับกล้ามเนื้ออีกด้วย ถือว่ามีสรรพคุณในทางบำรุงกำลัง เป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้ร่างกายสดชื่นอ่อนเยาว์อยู่เสมอ

ดอกลำดวนมีความสำคัญทางวัฒนธรรมในประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างกัมพูชาด้วย ถือเป็นดอกไม้ประจำชาติที่ปลูกแพร่หลายทั่วประเทศ โดยเฉพาะตามสถานที่สาธารณะต่างๆ กวีมักเปรียบเทียบความงามของหญิงสาวกับกลิ่นหอมที่ฟุ้งขจรของดอกลำดวน ดังที่ปรากฏในบทเจรียงกันตรึมหรือบทร้องของชาวเขมรและชาวอีสานใต้เชื้อสายกัมพูชา ซึ่งมักใช้ในพิธีมงคลต่างๆ

ดอกนมแมว จาก http://img372.imageshack.us

ดอกไม้ในวงศ์เดียวกันอีกชนิดที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ คือ ดอกนมแมว (Rauwenhoffia siamensis) เป็นไม้หอมที่เรียกได้เต็มปากว่าเป็นไม้ไทยแท้ๆ เพราะมีถิ่นกำเนิดในบ้านเรานี่เอง มักพบขึ้นตามธรรมชาติบริเวณชายป่าชื้นและป่าเบญจพรรณในภาคใต้และภาคกลาง ถือเป็นไม้ที่มีคุณประโยชน์มาก เพราะนอกจากจะมีกลิ่นหอมจรุงใจแล้วยังมีสรรพคุณทางการแพทย์อีกด้วย จึงน่าจะสนับสนุนให้ปลูกกันมากๆ เพื่ออนุรักษ์ไม้ไทยแท้ชนิดนี้ไม่ให้สูญพันธุ์หรือตายจากความทรงจำของคนรุ่นใหม่ไป

นมแมวเป็นไม้พุ่มขนาดกลางหรือไม้รอเลื้อย ลำต้นสีน้ำตาลเข้ม ใบเดี่ยวเรียงสลับรูปขอบขนานแกมรูปรี ดอกสีเหลืองนวลมีกลีบหนาแข็งซ้อนกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ ส่งกลิ่นหอมแรงในเวลากลางคืน สามารถใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องหอมไทยอย่างน้ำอบ น้ำปรุง บุหงา ได้เช่นเดียวกับไม้ดอกหอมชนิดอื่น

ชาวไทยโบราณยังใช้เทียนลนดอกนมแมวเพื่อให้ได้น้ำมันหอมสำหรับแต่งกลิ่นขนม แต่ปัจจุบันหันมานิยมใช้กลิ่นสังเคราะห์ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่ากลิ่นนมแมว ให้กลิ่นหวานชื่นใจซึ่งเข้ากันได้ดีกับส่วนผสมหลักๆ ในขนมอย่างไข่ นม น้ำตาล และมะพร้าว ทำให้ขนมมีกลิ่นรสแสนอร่อยชวนให้น้ำลายสอ ขนมไทยที่แต่งกลิ่นนมแมวก็มีอาทิ สาลี่ ปุยฝ้าย วุ้น หรือลอดช่องสิงคโปร์ แต่ต้องระวังไม่ใช้มากเกินไป เพราะจะทำให้ขนมมีกลิ่นฉุนแรงไม่น่ารับประทาน

ขนมไทยที่กรุ่นกลิ่นนมแมว อาทิ ขนมสาลี่ (ซ้ายบน) จาก http://travel.giggog.com ขนมปุยฝ้าย (ซ้ายล่าง) จาก http://www.dumenu.com ขนมวุ้น (ขวา) จาก http://idooidea.blogspot.com

ชาวอินโดนีเซียนิยมผสมดอกนมแมวในตัวยาสมุนไพรที่ทำจากรากโสม เมล็ดข้าวโพดป่น และส่วนผสมอื่นๆ ให้ได้ตัวยาที่มีกลิ่นรสหอมชื่นใจและมีสรรพคุณหลากหลาย เช่น กระชับกล้ามเนื้อ ลดความดันเลือด รักษาระดับการเต้นของหัวใจให้ปกติ กระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง บรรเทาอาการปวดและอ่อนเพลีย ตลอดจนล้างพิษในร่างกาย

จำปูน เป็นดอกไม้อีกชนิดในวงศ์นี้ที่มีกลิ่นหอมน่าประทับใจ มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Anaxagorea javanica มีถิ่นกำเนิดในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ชาวมาเลเซียเรียกว่า “บุหงาปมปุน” ส่วนชาวตะวันตกเรียก “Twin-seed” ลำต้นสูงได้ราว 10-15 เมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับ ดอกมีกลีบอวบหนาซ้อนกัน 2 ชั้นดูสวยแปลกตา กลีบด้านในสีขาว ส่วนกลีบด้านนอกสีออกเขียวดูกลมกลืนเข้ากับพุ่มใบ ทำให้ต้องใช้เวลาเพ่งสายตามองหาดอกอยู่สักหน่อย ดอกขนาดเล็กจิ๋วแต่ส่งกลิ่นหอมแรงมากในยามเย็น เข้าทำนองจิ๋วแต่แจ๋วจริงๆ

ดอกจำปูน จาก http://clgc.rdi.ku.ac.th

ดอกจำปูนนี้เจริญเติบโตได้ดีในป่าดิบชื้นแถบคาบสมุทรมลายู เกาะบอร์เนียว และชวา ในประเทศไทยพบมากที่จังหวัดจันทบุรีและภาคใต้ ชอบขึ้นในที่ร่มชื้นอย่างริมแม่น้ำ จำปูนนี้เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดพังงา ดังคำขวัญว่า “แร่หมื่นล้าน บ้านกลางน้ำ ถ้ำงามตา ภูผาแปลก แมกไม้จำปูน บริบูรณ์ด้วยทรัพยากร” ว่ากันว่าสมัยก่อนนั้นสามารถพบเห็นต้นจำปูนได้ทั่วไปในจังหวัดพังงา แต่ปัจจุบันปลูกกันน้อยลง ใครอยากชมจำปูนงามๆ ก็สามารถแวะเวียนไปได้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเพื่อเศรษฐกิจพังงา ในอำเภอเมือง แต่ถ้าจะให้ดีก็ลองหามาปลูกไว้เชยชมสักต้นสองต้น แม้ต้นจำปูนนี้ออกดอกค่อนข้างยากในที่ราบภาคกลางซึ่งอากาศร้อนและแสงแดดจัด แต่ถ้าจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่นให้อยู่ในที่ร่มรำไรและความชื้นพอเหมาะ ก็ไม่น่าจะผิดหวัง ช่วยกันปลูกมากๆ เข้าไว้เพื่อเป็นมรดกตกทอดไปยังคนรุ่นหลัง ให้ได้รู้จักคุ้นเคยกับไม้หอมชนิดนี้ ไม่เลือนหายไปจากความทรงจำ

ดอกจำปูนมีกลิ่นหอมเย้ายวนคล้ายๆ การเวกอยู่เหมือนกัน สามารถนำไปทำเครื่องหอมได้เช่นเดียวกับดอกไม้ชนิดอื่น ยอดอ่อนสามารถรับประทานได้ด้วย

ไม้วงศ์กระดังงาอีกชนิดที่มีกลิ่นหอมโดดเด่นซึ่งคนไทยรู้จักกันดี คือ สายหยุด มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Desmos chinensis มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนใต้จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สายหยุดนี้มีชื่อท้องถิ่นอีกหลายชื่อ เช่น ชาวสุราษฎร์ธานีเรียกเสลาเพชร สระบุรีเรียกกล้วยเครือ ส่วนจังหวัดเลยเรียกเครือเขาแกลบ เป็นไม้พุ่มหรือไม้รอเลื้อยขนาดย่อม รากต้นสายหยุดใช้เป็นยาแก้บิดในตำราแพทย์แผนโบราณของไทย

ดอกสายหยุด จาก http://clgc.rdi.ku.ac.th

ใบสายหยุดเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับรูปรี ปลายแหลม หน้าใบเรียบ หลังใบมีขนอ่อนๆ ขอบใบหยักเป็นคลื่น ดอกมีรูปลักษณ์คล้ายกระดังงา ทว่ากลีบยาวโค้งเข้าหากัน ปลายกลีบบิดงอ ดอกสายหยุดนี้บ้างก็เรียกว่า สาวหยุด ดังในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ซึ่งแต่งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ความว่า

ส่วนในบุณโณวาทคำฉันท์ ของพระมหานาค วัดท่าทราย ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเช่นเดียวกัน กลับเรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า สายหยุด ความว่า

เช่นเดียวกับโคลงสี่สุภาพจากลิลิตตะเลงพ่าย ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นบทคลาสสิคที่มักถูกอ้างถึงอยู่บ่อยครั้ง เมื่อกล่าวถึงดอกสายหยุด

โคลงบทนี้เป็นเหตุให้นิยมอ้างกันว่า ดอกไม้นี้ได้ชื่อ สายหยุด เพราะส่งกลิ่นหอมฟุ้งในยามรุ่งอรุณ ก่อนจะค่อยจางไปในเวลาสาย แต่ก็มีผู้ทักท้วงว่าต่อให้ตกบ่ายไปแล้วก็ยังหอมอยู่เลย คำว่า สาวหยุด จึงน่าจะเหมาะกว่า เพราะสื่อถึงความหอมตรึงใจจนหญิงสาวต้องนิ่งอึ้งตะลึงลาน

แต่กระนั้น ชื่อสายหยุดก็ดูจะได้รับความนิยมมากกว่า จนติดตรึงในความทรงจำของคนไทยทั่วไปเสียแล้วว่า ดอกไม้ชนิดนี้จะหยุดส่งกลิ่นหอมในเวลาสาย เหมือนกับชื่อเสียงเรียงนามที่บ่งบอกเอาไว้ แต่จะจริงเท็จประการใดนั้น ต้องลองพิสูจน์กันเอาเอง สำหรับดอกสายหยุดที่บ้านผู้เขียนนั้น ลงไปพิสูจน์กลิ่นกันตอนเช้าก็ไม่ยักได้กลิ่นอะไร แต่พอหกโมงเย็นลงไปเดินเล่นในสวน กลับส่งกลิ่นขจรขจายเสียอย่างนั้น ก็แปลกดีเหมือนกัน

สปาในปัจจุบันก็หันมาใช้กลิ่นหอมของดอกไม้ถิ่นร้อนกันมากขึ้น ภาพจาก http://www.mynetbizz.com

กลิ่นหอมของสายหยุดนั้นออกเปรี้ยวสดชื่นกว่ากลิ่นกระดังงา สามารถนำไปใช้ทำเครื่องหอมไทย อย่างน้ำอบ น้ำปรุง บุหงา และนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหยสำหรับใช้ในการบำบัดตามสปาต่างๆ ที่หันมาใช้กลิ่นหอมของดอกไม้ในบ้านเรามากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าเป็นหัวน้ำมันบริสุทธิ์ เพราะการสกัดหัวน้ำมันแท้นั้นต้องใช้ต้นทุนสูง เนื่องจากใช้ดอกจำนวนมหาศาลในการสกัดหัวน้ำมันปริมาณเล็กน้อย ทำให้ราคาขายพุ่งสูงตามไปด้วย ลูกค้าทั่วไปคงสู้ราคาไม่ไหว จึงสันนิษฐานว่าน้ำมันหอมพวกนี้อาจจะได้จากการผสมหัวน้ำมันดอกไม้และสมุนไพรอื่นๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้กลิ่นใกล้เคียงกับดอกไม้แต่ละชนิด ซึ่งก็คงไม่เหมือนของจริงร้อยเปอร์เซ็นต์

ดอกไม้ชนิดสุดท้ายที่จะกล่าวถึงในคราวนี้ เป็นไม้วงศ์กระดังงาที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความหอมเย้ายวน แม้จะเป็นที่รู้จักน้อยกว่าไม้หอมชนิดอื่นๆ ข้างต้น แต่ในแวดวงของคนสะสมพันธุ์ไม้นั้นรู้จักกันมานานแล้ว นั่นคือ บุหงาเซิง มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Friesodielsia desmoides มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยเรานี่เอง ผู้เขียนชอบเอาจมูกไปแนบเข้ากับกลีบดอกที่เป็นสีเหลืองเข้มเพราะแก่จัด เพื่อสูดดมกลิ่นหอมๆ บุหงาเซิงนี้ให้กลิ่นหวานมาก จนนึกขำอยู่คนเดียวว่า ถ้านำมาทำน้ำหอม แล้วประพรมลงบนผิวกาย ก็อาจจะทำให้หมู่ภมรตามมาไต่ตอมเอาได้เลยทีเดียว

บุหงาเซิง

จริงๆ แล้วไม้วงศ์กระดังงาทั่วโลกมีมากราว 130 สกุล (2,300-2,500 ชนิด) พบในเมืองไทย 41 สกุล หรือประมาณ 195  ชนิด หลายชนิดมีรูปลักษณ์สวยแปลกตาและมีกลิ่นหอมโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้มีผู้นำมาเพาะพันธุ์ขายสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับ จนได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มนักสะสมพันธุ์ไม้หอมหายาก ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ไม้เหล่านี้จะได้ไม่สูญพันธุ์ไป  เพราะหากปล่อยให้เจริญเติบโตในสภาพธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ก็เสี่ยงต่อการบุกรุกทำลายป่าและภัยธรรมชาติต่างๆ ถึงเวลานั้นคนรุ่นหลังก็อาจไม่มีโอกาสได้ชมความงามของไม้หายากเหล่านี้อีก

จะเห็นว่าไม้วงศ์กระดังงานี้มักมีกลิ่นหอมแรง แบบที่ฝรั่งเรียกว่า “narcotic” คือมีฤทธิ์สะกดใจให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล ขณะที่รูปลักษณ์กลับไม่ได้งามเลิศวิลิศมาหราเหมือนดอกไม้ฝรั่งส่วนมาก ไม้วงศ์นี้มักเติบโตในถิ่นอากาศร้อนชื้นอย่างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา จึงสะท้อนความเป็นตะวันออกไกลได้ดี หากจะเปรียบก็คงเหมือนสาวชาวสุวรรณภูมิหรือสาวมลายูที่หน้าตาผิวพรรณออกคมขำ แม้ไม่ได้งามน่าทะนุถนอมเหมือนสาวฝรั่งผมทองตาสีฟ้า แต่ก็มีความเป็นหญิงเต็มตัวที่ออดอ้อนเอาอกเอาใจเก่ง เสน่ห์อันแปลกตานี้เองทำให้หนุ่มฝรั่งหันมาหลงใหลสาวเอเชียผิวคล้ำร่างเล็กกันนักต่อนักแล้ว ไม่ต่างจากกลิ่นหอมอันโดดเด่นของมวลดอกไม้เหล่านี้

*ผู้ที่ต้องการนำบางส่วนของบทความไปเผยแพร่ทางเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ กรุณาระบุที่มาของข้อมูลด้วย ขอบคุณค่ะ